ผลสำรวจผู้คนกว่า 8,000 คนทั่วโลก ยอมรับมีความรู้สึกเป็นกังวลอิทธิพลของสื่อในโลกออนไลน์ เนื่องจากผู้คนในเวลานี้รับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก
ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ด้านวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ว่า การบิดเบือนข้อมูล และคำพูดที่แสดงความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ ได้ถูกเร่งและขยายจากแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงในด้านความร่วมมือกันทางสังคม สันติภาพ และเสถียรภาพ
อาซูเลย์ กล่าวต่อไปว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปกป้องการเข้าถึงข้อมูล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิมนุษยชน ซึ่งตัวของอาซูเลย์ ก็มีแนวคิดที่จะออกพิมพ์เขียวด้านการกำกับดูแล เพื่อเสนอต่อรัฐบาลในประเทศต่างๆ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ให้บริการด้านโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้ ผลสำรวจของ Ipos ที่ร่วมจัดทำกับยูเนสโก ได้มีการสำรวจประชาชนในประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรีย, โครเอเชีย, สหรัฐอเมริกา, แอลจีเรีย, เม็กซิโก, กานา และอินเดีย รวมกว่า 8,000 คน ระบุว่า 56 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ได้รับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก มากกว่าทีวีที่ได้รับการโหวตที่ 44 เปอร์เซ็นต์ และเว็บไซต์ของสื่อประมาณ 29 เปอร์เซ็นต์
โซเชียลมีเดีย กลายเป็นแหล่งรับข่าวสารหลักในเกือบทุกประเทศ ทั้งที่ความน่าเชื่อถือของข้อมูลยังคงต่ำกว่าการนำเสนอข่าวของการทำสื่อแบบดั้งเดิม จากการตอบแบบสอบถามพบว่า ผู้คนมีความกังวลต่ออิทธิพลของโซเชียลมีเดียในแง่การบิดเบือนข้อมูลด้วย อีกทั้งยังมองว่าเป็นภัยคุกคามอย่างเป็นรูปธรรมมากถึง 85 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีตัวเลขอีกกว่าร้อยละ 87 กล่าวว่า การบิดเบือนข้อมูลได้ส่งผลกระทบต่อประเด็นทางการเมือง
ในเวลาเดียวกัน การใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังก็ถูกแพร่กระจาย โดย 67 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม อธิบายว่า พวกเขาพบเห็นบนโลกออนไลน์ และผู้คนอีกกว่า 88 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่า รัฐบาล และหน่วยงานกำกับดูแล ต้องมีส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ รวมถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามเน้นย้ำว่า ผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ต้องแสดงท่าทีการดำเนินการอย่างจริงจังด้วย
...
ที่มา: The Guardian