สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ริเริ่มวัดสถานะความพร้อมด้านดิจิทัลของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ไทยทั่วประเทศ ผ่าน “การสำรวจสถานะการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME Digital Maturity Survey 2023” เพื่อสะท้อนถึงสถานะและระดับความพร้อมของการเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอีไทย ซึ่งผลสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจ ได้แก่

1.เอสเอ็มอีไทยมีความพร้อมด้านดิจิทัล ในระดับ Digital Follower จากการสำรวจสถานะการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอี ในกลุ่มกิจการที่มีการสร้างมูลค่าสูงให้แก่เศรษฐกิจ (High Value Sector) ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล ท่องเที่ยว การค้าดิจิทัล การบริการทางการเงิน บริการการศึกษา การบริการสุขภาพ พบว่าเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ 44.81% มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในระดับปานกลาง (Digital Follower) มีความเข้าใจ สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้เหมาะสม แต่ยังขาดการบูรณาการด้านดิจิทัลภายในองค์กรอย่างทั่วถึง รองลงมา 31.30% มีความพร้อมในระดับสูง (Digital Native) มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นตัวช่วยในการบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานขององค์กร ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ 20.47% เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในระดับต่ำ (Digital Novice) ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้อย่างเต็มที่ และ 3.42% มีความพร้อมในระดับสูง (Digital Champion) ที่ถือเป็นกลุ่มผู้นำในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัล รู้ทันการเปลี่ยนแปลง และสามารถตอบสนองได้ทันท่วงที มองเห็นลู่ทางใหม่ๆในการนำดิจิทัลต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่

...

โดยเอสเอ็มอีที่มีรายได้สูง เช่น องค์กรขนาดกลาง รวมทั้งเอสเอ็มอีจากภาคผลิตจะมีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลมากที่สุด ส่วนงานที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ การตลาด รองลงมาคือ การเงินและบัญชี และการขาย

2.เอสเอ็มอียังติดกับดักของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่ไม่สำเร็จ เพราะจากผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเผชิญกับ “กับดักความท้าทาย” ได้แก่ 1.ขาดแคลนทักษะและความสามารถด้านดิจิทัล 62.72% เพราะพนักงานส่วนใหญ่กว่า 67.86% มีระดับทักษะด้านดิจิทัลอยู่ในขั้นพื้นฐาน ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลง่ายๆหรือเป็นการใช้ในระดับเบื้องต้นเท่านั้น 2.ต้นทุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่อยู่ในระดับสูงเกินไป เนื่องจากเอสเอ็มอี 87.08% ยังใช้ทุนส่วนตัวหรืองบประมาณของบริษัทในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีใหม่ในองค์กร ที่เหลือต้องเป็นการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และขอสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ 3.ขาดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการในการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล 49.68% 4.ขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็นในการเปิดใช้งานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล 42.03% 5.ความซับซ้อนของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จนไม่สามารถตั้งต้นการดำเนินงานได้ 41.33% 6.ความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันภายในองค์กร 11.30%

3.งบประมาณ–สิทธิประโยชน์ที่อยากได้รับการสนับสนุน พบว่า 63.30% ต้องการการสนับสนุนด้านการเงินและงบประมาณ รองลงมาคือการให้สิทธิประโยชน์หลังการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลในองค์กร 48.41% และอันดับถัดไป ได้แก่ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรในองค์กร 44.17%, การจัดหาช่องทางในการเข้าถึงและเกิดการจับคู่ทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับองค์กร 35.36%, การรับรองมาตรฐานทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ในองค์กร 25.10% เป็นต้น

4.เทคโนโลยีที่เอสเอ็มอีไทยต้องการใช้ ปรากฏว่าเทคโนโลยีด้านบริการธุรกิจ (Business Services) คือสิ่งที่ต้องการมากที่สุดกว่า 33.86% โดยเฉพาะระบบการจัดการประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) เช่น การวิเคราะห์ความต้องการลูกค้า การจัดการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า รองลงมาคือ เทคโนโลยีด้านการเงิน 25.04%, ด้านดิจิทัลคอนเทนต์หรือไลฟ์สไตล์ 10.84% และด้านอุตสาหกรรม 10.67% ที่สำคัญเทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องมีราคาที่ไม่สูงมากนัก.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม