Gogolook ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall เปิดเผยว่า การหลอกลวงทั่วโลกทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากรายงานปี 2566 ขององค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก หรือ GASA (The Global Anti-Scam Alliance) พบว่า การฉ้อโกงทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เกิดความสูญเสียทางการเงิน 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.98 ล้านล้านบาท

โดยกลโกงรูปแบบใหม่ คือการใช้ Generative AI (เช่น ChatGPT และ DeepFake) ที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นเครื่องมือใช้หลอกลวงทั่วโลก ภาครัฐและเอกชนจึงจำเป็นต้องลงทุนและร่วมกันวางกลยุทธ์เพื่อป้องกันภัยดังกล่าว

Whoscall ระบุ กรณีหลอกลวงโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ปลอมเสียง กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมิจฉาชีพจะใช้ AI เพื่อเลียนแบบเสียงคนคุ้นเคย เพื่อน หรือครอบครัว ทำให้เหยื่อเชื่อและหลงกลในที่สุด ด้วยการใช้เทคโนโลยีโคลนนิง มาวิเคราะห์เสียงที่ถูกบันทึกไว้หรือเสียงที่ได้จากออนไลน์เพื่อสร้างเสียงสังเคราะห์ที่ใกล้เคียงกับเสียงบุคคลเป้าหมาย

เมื่อทำสำเร็จก็จะโทร.หาเหยื่อเพื่อปลอมเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ตัว บ่อยครั้งที่ผู้โทร.อ้างว่าอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เกิดอุบัติเหตุต้องการให้โอนเงินช่วยเหลือโดยด่วน หรือมีปัญหาทางกฎหมาย เพื่อบีบคั้นและเร่งให้เหยื่อทำบางอย่างโดยไม่ทันตรวจสอบว่าผู้โทร.เข้า เป็นคนที่คิดไว้จริงหรือไม่

ในประเทศไทยเทคโนโลยีปลอมเสียงเพื่อใช้ในการต้มตุ๋น เริ่มคืบคลานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยนางสาวฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook กล่าวถึงการป้องกันตัวเองจากการปลอมเสียงด้วย AI ระวังสายโทร.เข้าที่ไม่พึงประสงค์ว่า แม้จะรู้สึกคุ้นเคยกับเสียงที่โทร.เข้ามา แต่สิ่งสำคัญคืออย่ารีบทำตามสิ่งที่ปลายสายเร่งให้ทำ ควรเช็กตัวตนที่แท้จริงของผู้โทร.ให้แน่ใจก่อนที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวหรือดำเนินการใดๆ

...

“ควรติดต่อกลับโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่เคยบันทึกไว้ โทร.หาคนใกล้ตัวเพื่อเช็กและไม่ควรเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือข้อมูลทางการเงิน จนกว่าจะระบุตัวตนของผู้โทร.ที่แท้จริง นอกจากนั้นยังควรระมัดระวังอย่างยิ่ง หากมีการขอให้โอนเงินหรือขอความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเฉพาะหากเป็นวิธีชำระเงินที่ผิดปกติ ห้ามโอนเงินไปให้ทันที”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม