นับเป็นข่าวใหญ่ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่กับโครงการร่วมทุนเพื่อพัฒนาอุปกรณ์มือถือ “เอไอ” สำหรับผู้บริโภคเป็นเครื่องแรกที่ถูกเรียกว่า “ไอโฟนแห่งปัญญาประดิษฐ์” (iPhone of artificial intelligence) โดยอดีตผู้บริหารของแอปเปิลและซอฟต์แบงก์ ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารสัญชาติญี่ปุ่นอยู่ระหว่างเจรจาลงทุนในโครงการนี้
เว็บไซต์ ft.com รายงานว่า บริษัทโอเพ่นเอไอ ซึ่งเป็นผู้สร้าง ChatGPT โปรแกรมแชต “เอไอ” ที่สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ด้วยตนเอง มีความก้าวหน้าสำหรับการเจรจากับ “เซอร์ จอนนี่ ไอฟฟ์” อดีตผู้บริหารแอปเปิลและ “มาซาโยชิ ซัน” แห่งซอฟต์แบงก์ให้เงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
...
โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการเริ่มต้น มีความคิดเกี่ยวกับการออกแบบในสิ่งที่เป็นไปได้มากมายและคาดหวังว่าจะสร้างบางสิ่งขึ้นมาได้ พวกเขาหวังว่าจะสร้างประสบการณ์ผู้ใช้เป็นธรรมชาติมากขึ้น เป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับการโต้ตอบกับ “เอไอ” ผ่านนวัตกรรมของ iPhone ในด้านการประมวลผลหน้าจอสัมผัสได้ปลดปล่อยศักยภาพในตลาดมวลชนของอินเตอร์เน็ตบนมือถือ
เช่นเดียวกับกระบวนการออกแบบหรืออุปกรณ์ก็ยังเป็นแนวคิดเริ่มต้นมากมายที่กองอยู่บนโต๊ะ มีรายงานว่า “ซัน” แห่งซอฟต์แบงก์มีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น ซึ่งบทบาทสำคัญของเขาก็คือบริษัท Arm ซึ่งเป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมชิปที่โด่งดัง โดยกลุ่มบริษัทนี้ถือหุ้น 90%
โครงการนี้เกิดขึ้นโดยทาง “แซม อัลท์แมน” แห่งโอเพ่นเอไอ ได้ติดต่อบริษัทเลิฟฟรอม ของ “ไอฟฟ์” ที่เขาก่อตั้งขึ้นหลังจากลาออกจากแอปเปิลเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ ChatGPT สำหรับผู้บริโภคเป็นเครื่องแรก แม้ว่าจะไม่มีข้อตกลงใดๆที่เกิดขั้น แต่ข่าวระบุว่านับเป็นเรื่องที่ซีเรียสและอาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนก่อนจะมีการประกาศการลงทุนอย่างเป็นทางการและต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ตรงสู่มือผู้บริโภค
ก่อนหน้านี้ ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล ออกมาเผยว่าแอปเปิลได้ลงทุนด้านเอไอไปแล้วกว่า 2.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้นำมาใช้ใน iPhone บ้าง อาทิ คุณสมบัติการตรวจจับการล้ม, การตรวจสอบรถชนอัตโนมัติหรือแอป ECG บน Apple Watch
อีกทั้งระบุด้วยว่ามีความน่าสนใจใน ChatGPT สามารถสร้างข้อความ รูปภาพ และเสียงได้ แต่มีหลายประเด็นที่ต้องแก้ไข โดยมีรายงานว่า Siri ของแอปเปิลมีการพัฒนาที่ล่าช้ากว่า ChatGPT อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดก็คือการให้ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ iPhone นั่นเอง.