แม้แอปเปิล (Apple) ยังไม่เปิดเผยถึงกำหนดการเปิดตัวอุปกรณ์เฮดเซตด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality แต่กระแสของผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นของใหม่เอี่ยมอ่องภายใต้แบรนด์แอปเปิลก็ถูกพูดถึงมากมายเหลือเกิน
ไทม์ไลน์ที่คาดว่าผู้บริโภคทั่วโลกจะได้เห็นการเปิดตัวเฮดเซต Augmented Reality ของแอปเปิล ซึ่งในเวลานี้ถูกเรียกอย่างลำลองว่า Reality Pro น่าจะถูกเผยโฉมให้เห็นที่งาน WWDC 2023 งานสัมมนาประจำปีของนักพัฒนาของแอปเปิล
ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงซัพพลายเชนต่างฟันธงลงประเด็นว่า แอปเปิลซุ่มพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Reality Pro มานานมากแล้ว และในปี 2022 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป แอปเปิลก็เคยจวนเจียนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่มากๆ แล้ว แต่สุดท้ายการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ของแบรนด์แอปเปิลยังคงไม่เกิดขึ้น
...
ควรต้องกล่าวด้วยว่า แอปเปิลห่างหายจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นสินค้าในกลุ่มฮาร์ดแวร์มานานมากแล้ว ครั้งท้ายๆ ที่เราได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าสดใหม่จากแอปเปิล น่าจะเป็นสินค้าในกลุ่มหูฟัง AirPods และ Apple Watch โน่นเลย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้แอปเปิลไม่ได้เปิดไลน์ฮาร์ดแวร์ใหม่เป็นเพราะว่า แอปเปิลกอบโกยรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ได้อย่างมากมายมหาศาล อีกทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มซอฟต์แวร์ที่ว่านี้ แอปเปิลสามารถตักตวงผลประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าสินค้าฮาร์ดแวร์ (ยกเว้น iPhone) ซึ่งสินค้าที่อยู่ในกลุ่มซอฟต์แวร์ประกอบไปด้วย Apple TV+ บริการสตรีมมิงภาพยนตร์และซีรีส์ของแอปเปิล และ Apple Music บริการสตรีมมิงเพลง โดยทั้งหมดนี้ แอปเปิลสามารถแยกเป็นบริษัทย่อยแล้วนำเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วยซ้ำไป จากการมียอดขายตลอดปี 2022 ที่ 7.81 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
การมาของ Reality Pro ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครทราบว่าแอปเปิลจะใช้ชื่อนี้สำหรับทำการตลาดหรือไม่ แน่นอนว่าปลายทางของการแข่งขัน แอปเปิลจะมีคู่ต่อกรที่ชื่อว่าเมตา (Meta) นั่นเอง นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เพราะในช่วง 2 ปีให้หลัง เมตาและแอปเปิล มีประเด็นให้ขบเหลี่ยมทางธุรกิจกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็น App Tracking Transparency ส่งผลให้รายได้จากระบบโฆษณาของเฟซบุ๊กไม่เข้าเป้า บังเกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้เมตาต้องลดรายจ่ายลงอย่างมหาศาล
ในเวลานี้ นอกเหนือจากธุรกิจด้านโซเชียลมีเดียแล้ว เมตามีความพยายามที่จะผลักดันอุปกรณ์ในกลุ่ม Virtual reality ภายใต้แบรนด์ Meta Quest ซึ่งถ้าหากวันหนึ่งวันใด แอปเปิลเดินหน้าเปิดตัว Reality Pro เมื่อไหร่ ทั้งแอปเปิลและเมตาก็จะเป็นคู่แข่งขันกันทางธุรกิจทันที
ในด้านสเปกของ Reality Pro ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีคุณสมบัติอันโดดเด่นมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดี ตัวเครื่องน่าจะมีความละเอียดระดับ 4K และการใช้งานหน้าจอ OLED ที่มีความยืดหยุ่นต่อสายตาของผู้สวมใส่ แต่จุดที่แอปเปิลกุมความได้เปรียบนั่นคือ เรื่องของชิปเซต เนื่องจากในเวลานี้แอปเปิล มีศักยภาพมากพอที่จะผลิตชิปเซตภายใต้แบรนด์ของตัวเอง แต่ทางฝั่งเมตาอาจเสียเปรียบนิดหน่อยตรงที่ พวกเขาต้องพึ่งพิงชิปเซตจากภายนอก กล่าวคือ ชิปเซตที่ใช้ใน Meta Quest Pro รุ่นใหม่ล่าสุด ใช้ชิปของควอลคอมม์ (Qualcomm)
อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า Reality Pro ต้องพึ่งพิงความสามารถจาก iPhone หรือไม่ แต่คงต้องกล่าวตามความจริงว่า ตลาด Virtual reality และ Augmented reality ต่างก็เป็นตลาดที่สดใหม่มากๆ อีกทั้งตามข่าวลือที่มีมาก่อนหน้านี้ ระบุว่า Reality Pro ของแอปเปิล มีระดับราคาที่แพงมาก อยู่ที่ 1,500-3,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5 หมื่นบาท-1 แสนบาท)
ดังนั้นแล้วแอปเปิลก็คงหวังพึ่งยอดขายจากสินค้าพวกนี้ให้เป็นหัวเรือหลักด้านรายได้ของบริษัทจะยังไม่เกิดในช่วงนี้ และผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม iPhone จะยังคงเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของแอปเปิลต่อไป เพราะอันที่จริงแม้แต่ Meta Quest ผลิตภัณฑ์ของเมตา ก็ยังไม่ได้อยู่ในสถานะคืนทุนเสียด้วยซ้ำ สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขภาพรวมในอุตสาหกรรมแว่นตา AR และ VR ที่มียอดการจัดส่งราว 9.6 ล้านเครื่องในปี 2022 เท่านั้น ตรงกันข้ามกับยอดขายของ iPhone อยู่ที่ 2.054 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
...
แน่นอนว่า แอปเปิลคงไม่ต้องการหวังพึ่งรายได้จาก iPhone เพียงช่องทางเดียวอีกต่อไป แต่แอปเปิลกำลังต้องการสร้างขุมทรัพย์นอกเหนือจากยอดขาย iPhone ซึ่งการเปิดตัว Reality Pro ถือเป็นการเดิมพันอีกทางหนึ่งของแอปเปิลเช่นกัน พร้อมกับสวดมนต์คาดหวังว่า Reality Pro จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game changing) เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับ iPhone เมื่อ 16 ปีที่แล้วนั่นเอง
ด้วยความที่แอปเปิลเป็นแบรนด์ที่มีอิทธิพลต่อตลาด ก็น่าสนใจเหมือนกันว่า สิ่งที่เรียกว่าพลังแฝงของแบรนด์แอปเปิลจะช่วยผลักดันให้ Virtual reality และ Augmented reality เปิดตัวอย่างสวยหรูได้หรือไม่ โดยรายงานของมาร์ค เกอร์แมน จากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า แอปเปิลตั้งเป้ายอดขายเฮดเซต AR และ VR เอาไว้ที่ 1 ล้านเครื่องในปีแรกที่เปิดตัววางจำหน่าย
...
ถามว่าตัวเลขนี้มากหรือน้อยก็คงต้องบอกว่า “น้อย” หากเราเทียบกับตัวเลขการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก่อนหน้านี้ของแอปเปิล ยกตัวอย่างเช่น แอปเปิลเคยสามารถขาย iPhone รุ่นแรกได้ครบ 1 ล้านเครื่องภายในเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น แต่ใน iPhone รุ่นต่อมาก็ใช้เวลาเกือบปี ก็ทำยอดขายเกินกว่า 10 ล้านเครื่อง
ขณะที่ iPad มียอดขายมากกว่า 1 ล้านเครื่องเพียงแค่ 28 วันแรกของการวางจำหน่าย ส่วน Apple Watch ที่วางจำหน่ายในปีแรกทำยอดขายได้มากกว่า 10 ล้านเรือน
ถึงกระนั้นแล้ว Reality Pro ของแอปเปิลการที่มันจะประสบความสำเร็จก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะต้องไม่ลืมว่า หลักการทำงานของเฮดเซตที่ว่านี้อยู่ในรูปแบบของอุปกรณ์สวมใส่ ซึ่งยังถูกตั้งคำถามในเรื่องของ Motion sickness รวมถึงเรายังไม่แน่ใจว่าการออกแบบที่ว่านี้ของแอปเปิลมีขนาดน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากมันหนักเกินไปก็คงไม่เหมาะต่อการใช้งานในระยะยาวหลายชั่วโมงต่อวัน และอาจส่งต่อความยั่งยืนในการใช้งานผลิตภัณฑ์นี้
...
นอกจากนี้ เราอาจได้เห็นความพยายามอย่างหนักของแอปเปิล ที่มีต่อการโน้มน้าวใจให้ผู้บริโภคพิจารณา “ถึงความจำเป็น” ของการมีอยู่ของ Reality Pro อีกด้วย