บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ไมโครซอฟท์ ลงทุนใน โอเพ่นเอไอ (OpenAI) บริษัทวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial intelligence) เป็นครั้งแรกในปี 2563 ในปีนี้ ไมโครซอฟท์ก็อัดเงินลงทุนใหม่อีก 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 335,200 ล้านบาท เพื่อให้ผลิตภัณฑ์แชตบอตสุดปังเขย่าโลกชื่อ ChatGPT ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์ที่ออกแบบให้พูดคุยได้เหมือนกับมนุษย์ผ่านทางข้อความหรือใช้เอไอช่วย สามารถไล่บี้ เสิร์ชเอนจิน (Search Engines) โปรแกรมค้นหาข้อมูลอันทรงพลังของบริษัทกูเกิลที่ครองเจ้าแห่งการค้นหาข้อมูลมายาวนาน โดยไมโครซอฟท์วางแผนที่จะรวมเทคโนโลยีของโอเพ่นเอไอเข้ากับหลายๆผลิตภัณฑ์ของตน หลังนำไปผนวกกับโปรแกรมการค้นหา “บิง” (Bing) และเว็บเบราเซอร์ “เอดจ์” (Edge) ของไมโครซอฟท์แล้ว

เมื่อ ChatGPT มารุ่งพุ่งแรง คู่แข่งอื่นก็ไม่รอช้าที่จะส่งผลิตภัณฑ์ที่เหนือกว่าเพื่อตอบโจทย์ ผู้ใช้งานได้ดีกว่ามาขับเคี่ยว และกูเกิลย่อมไม่ยอม ให้บัลลังก์ของตนสั่นคลอน เผยโฉมแชตบอตใหม่ชื่อ “บาร์ด” (Bard) ลงสนามสู้ ด้าน นายซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของ อัลฟาเบท (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล เผยว่า “บาร์ด” พยายามรวมความรู้อันกว้างไกลในโลกผนึกเข้ากับพลัง ความฉลาด และความคิดสร้างสรรค์ของผลิตภัณฑ์บริษัท

ทว่าข้อผิดพลาดของ “บาร์ด” กลับปรากฏขึ้นก่อนที่กูเกิลจะจัดงานเปิดตัวของใหม่นี้ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส เนื่องจากต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาวิดีโอโปรโมต “บาร์ด” ดันให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ในโฆษณาแสดงให้เห็นถึงการตอบคำถามของ “บาร์ด” เมื่อมีผู้ใช้งานถามว่า “มีการค้นพบอะไรใหม่ๆจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ที่จะเล่าให้เด็กอายุ 9 ขวบ ฟังได้บ้าง” ซึ่ง “บาร์ด” ให้ข้อมูลกลับไปมากมาย แต่มีคำตอบหนึ่งบอกว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เคยถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะภาพแรกของดาวเคราะห์นอกระบบ ถูกถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ใหญ่มาก (VLT) ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรปในปี 2547 ตามการระบุขององค์การนาซา สหรัฐฯ งานนี้ส่งผลให้หุ้นของอัลฟาเบทร่วงลง 7.4% สูญเสียมูลค่าการตลาดเทียบเท่ากับ 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 3.4 ล้านล้านบาท

...

ขณะที่เว็บอาลีบาบาก็แย้มจะลงสนามแข่ง แต่ยังอุบว่าจะเปิดตัวเมื่อใด หรือจะเรียกแอปพลิเคชันว่าอะไร.

ภัค เศารยะ