ปีเตอร์ แซทโค ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเครือข่าย และเคยทำงานเป็นผู้บริหารให้กับทวิตเตอร์ ชี้อดีตบริษัทของเขาหลอกลวงเกี่ยวกับบัญชีบอต และประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว
ปีเตอร์ แซทโค ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้บริหารฝ่ายความปลอดภัยด้านเครือข่ายของทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า ทวิตเตอร์มีความเลินเล่อต่อแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครือข่าย อีกทั้งยังไม่สามารถประเมินจำนวนบัญชีบอตภายในแพลตฟอร์มของตัวเองได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำ
เรื่องราวดังกล่าวจากการเปิดเผยของแซทโค ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยกล่าวหาว่า ทวิตเตอร์หลอกลวงผู้ถือหุ้น รวมถึงละเมิดข้อตกลงกับคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง (Federal Trade Commission - FTC) พร้อมกับแนบเอกสารอีก 200 หน้า
ในเวลาต่อมา แซทโค ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น พร้อมกับระบุถึงปัญหาภายในของทวิตเตอร์ แซทโค ยืนยันว่า ทวิตเตอร์มีจำนวนพนักงานมากเกินไปที่สามารถเข้าถึงระบบส่วนที่สำคัญ ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ และข้อมูลละเอียดอ่อนอื่นๆ นอกจากนี้ แล็ปท็อปหลายพันเครื่องภายในบริษัทมีสำเนาซอร์สโค้ดของทวิตเตอร์อย่างครบถ้วน ประเด็นนี้ถือว่าอันตรายมาก
ประเด็นถัดไปเป็นเรื่องของบัญชีบอต ซึ่งทวิตเตอร์พร่ำบอกว่า พวกเขามีบัญชีบอตเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่แซทโค ย้ำว่า วิธีการวัดตัวเลขของทวิตเตอร์เป็นการวัดที่ชวนให้เข้าใจผิด อีกทั้งผู้บริหารจะได้รับโบนัสพิเศษด้วยซ้ำ ถ้าหากสามารถเพิ่มยอดจำนวนผู้ใช้งานให้มากขึ้น แต่กลับไม่ได้มีความพยายามลดจำนวนบัญชีบอตหรือบัญชีสแปม
เท่านั้นไม่พอ แซทโค กล่าวว่า ทวิตเตอร์ กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ต้องการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยยกตัวอย่างกรณีที่รัฐบาลอินเดีย บังคับให้ทวิตเตอร์ว่าจ้างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนจำนวนมากของทวิตเตอร์
...
ในการตอบสนองต่อการออกมาแฉของแซทโคนั้น ทวิตเตอร์ กล่าวว่า ปีเตอร์ แซทโค ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายความปลอดภัยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยแซทโค มีผลงานการปฏิบัติงานที่ไม่ดีนัก (poor performance) และไม่มีประสิทธิภาพในฐานะผู้นำ ซึ่งสิ่งที่แซทโค พูดออกมานั้นเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และขาดบริบทที่สำคัญ
ทวิตเตอร์ กล่าวต่อไปว่า การเปิดเผยของแซทโค เป็นการพูดเพื่อดึงดูดความสนใจต่อคนภายนอก และพยายามก่อให้เกิดอันตรายต่อทวิตเตอร์ ลูกค้า รวมไปถึงผู้ถือหุ้นของบริษัท อีกทั้งในด้านความปลอดภัยนับเป็นสิ่งที่ทวิตเตอร์จัดวางลำดับความสำคัญเป็นอย่างแรกๆ มายาวนาน และทวิตเตอร์ยังคงมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากรออยู่ข้างหน้า
การออกมาแฉประเด็นดังกล่าวของแซทโคที่มีต่อทวิตเตอร์ เชื่อว่าน่าจะส่งผลต่อการพิจารณาคดีระหว่างอีลอน มัสก์ และทวิตเตอร์ได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นบัญชีบอต และบัญชีสแปม ซึ่งเป็นสิ่งที่มัสก์ กังขามากที่สุด นอกจากนี้ ถ้าข้อกล่าวหาเป็นไปตามความจริงที่แซทโคเปิดเผยออกมา ทวิตเตอร์อาจต้องเจอกับค่าปรับจำนวนมหาศาล
ที่มา: WSJ