ความบาดหมางระหว่างเฟซบุ๊ก และ แอปเปิล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากในประเด็นฟีเจอร์ App Tracking Transparency เพียงแต่ก่อนหน้าที่จะมีปัญหา ทั้งสองบริษัทต่างเคยมีการเจรจาหาข้อตกลงส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณามาก่อน

รายงานของสำนักข่าวเดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล เปิดเผยว่า ในปี 2016 จนถึงปี 2018 ก่อนหน้าที่แอปเปิลจะเริ่มประกาศใช้นโยบาย App Tracking Transparency ราว 3 ปี ทางฝั่งแอปเปิลเคยเสนอโมเดลธุรกิจให้เฟซบุ๊กพัฒนาแอปพลิเคชันแบบปลอดโฆษณาขึ้นมา โดยแอปเปิลจะขอส่วนแบ่งจำนวน 15-30 เปอร์เซ็นต์เป็นค่าคอมมิชชันในกรณที่มีสมาชิกมาสมัครใช้งานเฟซบุ๊กแบบระบบสมาชิก ผ่านช่องทางแอปสโตร์ อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ก กลับไม่เล่นด้วยในข้อเสนอนี้ของแอปเปิล

ในเวลาต่อมา โฆษกของแอปเปิล ปฏิเสธว่า การพูดคุยกับนักพัฒนาเป็นสิ่งที่แอปเปิลทำเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่

โฆษกของแอปเปิล กล่าวเสริมว่า การพบกันระหว่างแอปเปิลและนักพัฒนา มีใจความสำคัญในเรื่องของการเสนอแนะ พูดคุยในเรื่องของความร่วมมือ การรับฟังและแก้ไขปัญหาร่วมกัน แล้วที่ผ่านมาแอปเปิลก็มีความเท่าเทียมอยู่เสมอในการบังคับใช้กฎหรือหลักเกณฑ์ของการพัฒนาแอปพลิเคชัน โดยมีเป้าหมายคือให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด

พร้อมกันนี้ แอปเปิลได้เน้นย้ำว่า การพูดคุยหรือการปฏิเสธแนวทางของเฟซบุ๊ก ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับนโยบาย App Tracking Transparency

ควรต้องกล่าวด้วยว่า แอปเปิล ก็มีรายได้จากความร่วมมือกับคู่แข่งทางธุรกิจอยู่เนืองๆ หนึ่งในนั้นก็คือ กูเกิล โดยแอปเปิลจะได้รับเงินจากทางกูเกิล เป็นจำนวนเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อให้เครื่องมือกูเกิลเสิร์ช (Google search) เป็นเครื่องมือค้นหาเริ่มต้นในเว็บเบราว์เซอร์ซาฟารี (Safari)

...

จนถึงตอนนี้มีตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับการที่ แอปเปิล บังคับใช้นโยบาย App Tracking Transparency นั่นคือ นโยบายนี้ทำให้แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, สแนป และยูทูบ ต่างสูญเสียรายได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมูลค่าจำนวนเงินที่หายไปดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่แอปเปิลประกาศใช้นโยบายนี้ในเดือนเมษายน 2021 จนถึงเวลานี้

ภายหลังจากแอปเปิล ประกาศการใช้งาน App Tracking Transparency อย่างเป็นทางการ ทางด้านเฟซบุ๊ก ตื่นตระหนกต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่น้อย พร้อมกับทบทวนการพัฒนาแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กในเวอร์ชันสมัครสมาชิกขึ้นมา ก่อนที่สุดท้ายผู้บริหารของเฟซบุ๊กจะล้มเลิกแนวความคิดนี้ เพราะไม่อยากทำลายรากฐานและพันธมิตรธุรกิจในระบบโฆษณา

ที่มา: WSJ