สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) ทำการศึกษาเพื่อมองภาพอนาคตเทคโนโลยีดิจิทัลของไทยในมิติต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอีก 5–10 ปีข้างหน้า โดยผลการศึกษาถูกนำมาจัดทำภาพอนาคตใน 4 ประเด็นหลัก ทั้งมุมบวกและลบ ดังนี้

1.อนาคตของธุรกรรมดิจิทัล (Future of Digital Transaction) ภาพอนาคตที่มีความเป็นไปได้หรือ Probable Futures ในอีก 10 ปีข้างหน้า การทำธุรกรรมจะยกระดับสู่โลกเสมือน และสินทรัพย์ที่ได้มาจากโลกเสมือนก็อาจนำไปใช้ต่อได้ในโลกจริง นำไปสู่การเกิดระบบระเบียบใหม่ โดยเฉพาะการกำกับดูแลโลกเสมือน ทั้งในประเด็นลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิในการถือครอง หรือการจัดเก็บภาษี เป็นต้น ในทางกลับกันอนาคตที่ว่าอาจนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือ Worst Case Scenario ภายใต้ภาพอนาคต “Backlash of e-Madness” ได้แก่

การบริโภคที่ไม่จำเป็นและกระบวนการผลิตสินค้าจะเผาผลาญทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง เพราะการทำธุรกิจออนไลน์ที่ง่ายและรวดเร็ว ผู้ขายเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จึงต้องแสวงหากำไรจากปริมาณสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น เกิดการผลิตสินค้าที่เผาผลาญทรัพยากร

...

การเกิด Dark Web จากธุรกรรมที่ไม่ได้ถูกคัดกรอง เพราะมีเป็นจำนวนมหาศาล ยากแก่การตรวจสอบ มีโอกาสที่ผู้ทำธุรกรรมจะถูกคิดค่าสิทธิโดยไม่สมัครใจ ถูกรีดไถ กระทบต่อความเชื่อมั่นในธุรกรรมออนไลน์

2.อนาคตของปัญญาประดิษฐ์ (Future of Artificial Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะถูกประยุกต์ใช้แพร่หลาย เช่น สแกนสินค้าชําระเงิน ใช้ตรวจร่างกายผู้ป่วย แต่บทบาทจะยังคงอยู่ในฐานะผู้ช่วย การตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังอยู่ที่มนุษย์ แต่ AI จะล้ำหน้าและมีรูปลักษณ์ใกล้เคียงความเป็นมนุษย์ที่สุด ใช้ชีวิตร่วมกับผู้คน จนเกิดเป็นชุมชน AI และเกิดการตั้งคำถามเชิงจริยธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่การกำหนดกฎระเบียบและบทลงโทษ AI รวมถึงแนวปฏิบัติของมนุษย์ที่พึงมีต่อ AI ด้วย ขณะที่ภาพสถานการณ์ร้าย ถูกกำหนดภายใต้ภาพอนาคต “Big Brain Colonization” ได้แก่

การลดทอนความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งถูกแทนที่โดยการให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI มากเกินไป ทำให้มนุษย์กลายเป็นผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว จากที่เคยเป็นผู้ผลิต

คนถูก AI แย่งงานโดยสมบูรณ์ กรณีเลวร้ายที่สุด อาจเกิดการเสื่อมถอยของสังคมมนุษย์ เนื่องจากมีการเรียนรู้น้อยลง ในขณะที่ฝั่ง AI มีบทบาทในการครอบงำมนุษย์สูงขึ้น จนอาจนำไปสู่การต่อต้าน AI

3.อนาคตของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Future of Digital Identity) ข้อมูลของแต่ละบุคคลจะถูกบรรจุลงในบัตร Smart Card การพิสูจน์และยืนยันตัวตนในอนาคตอาจอยู่ในรูปแบบของ Biometric Chip ที่ฝังอยู่ในร่างกาย หรือข้อมูลทางชีวภาพต่างๆ เช่น ม่านตา ลายนิ้วมือ หรือใบหน้า ทำให้การยืนยันตัวตนรวดเร็ว และลดความเสี่ยงจากการถูกแอบอ้าง ขณะเดียวกันภาพลบที่อาจเกิดขึ้นคือ “Battle of My Identity” ได้แก่

ความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ อวตาร (Avatar) ในโลกเสมือนเปรียบได้กับบัญชีผู้ใช้ (Account) หนึ่ง เป็นตัวตนที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยสมบูรณ์ และเชื่อมโยงกับตัวตนในโลกจริง ทำให้สามารถสร้าง Avatar เพิ่มได้ไม่จำกัด และยังสามารถถูกแย่งชิงหรือโอนย้ายความเป็นเจ้าของได้ ก่อให้เกิดช่องว่างในการแสวงหาผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย จนถึงขั้นเกิดตลาดมืดสําหรับการซื้อขายตัวตน หรือปลอมแปลงตัวตนทางดิจิทัล

...

การสืบหาตัวผู้กระทำผิดเป็นไปได้ยาก เมื่อการสืบหาตัวตนทางกายภาพจากตัวตนดิจิทัลเป็นไปได้ยาก จึงนำไปสู่การเอื้อให้เกิดการกระทำความผิดบนพื้นที่โลกเสมือน เช่น การฉ้อโกง การคุกคาม เพราะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลงโทษผู้ควบคุม Avatar ดังกล่าวได้

4.อนาคตของอินเตอร์เน็ต (Future of Internet) สัญญาณอินเตอร์เน็ตในอนาคตจะแผ่ขยายกว้างขวาง เข้าถึงได้ทุกแห่งด้วยต้นทุนต่ำ เทคโนโลยีบล็อกเชนจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้งานอินเตอร์เน็ตให้อยู่ในลักษณะการกระจายศูนย์ เพิ่มบทบาทของผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์ ลดบทบาทของผู้ให้บริการหรือเจ้าของแพลตฟอร์ม การปิดกั้นข้อมูลต่างๆเป็นไปได้ยากกว่าเดิม ขณะที่ภาพมองด้านลบในอนาคตคือ “Algorithmic Dystopia” ได้แก่

การคัดกรองและการตรวจสอบข้อมูลเป็นไปได้ยาก เนื่องจากใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการส่งต่อข้อมูลและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ทำให้เกิดการไหลผ่านของข้อมูลในปริมาณมหาศาล

ความเสี่ยงจากการสร้างเรื่องรุนแรงบนอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น การเข้าถึงได้อย่างอิสระ ก่อให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ความคิดเห็นด้านลบ และการหลอกลวง การไหลผ่านของข้อมูลจำนวนมากยังสร้างรอยเท้าดิจิทัล ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลนั้นๆ รวมถึงอาจถูกใช้ติดตามและควบคุมพฤติกรรมของผู้คน จนกระทั่งลดทอนการแสดงออกอย่างเสรีภาพ.

...