ชื่อของบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ เมนูแฟคเจอริ่ง หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Limited. (TSMC) ถูกฉายสปอตไลต์ขึ้นมา ภายหลังจากการเยือนไต้หวันของ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ และได้สร้างความตึงเครียดครั้งใหญ่ขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านจากจีนเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

หนึ่งในภารกิจการเยือนของ “เพโลซี” ก็คือการเข้าพบกับ “มาร์ค หลิว” ประธานกรรมการของ TSMC คำถามคือ TSMC เป็นใคร มีความสำคัญและมายืนอยู่กลางปมขัดแย้งเป็น “สงครามเทคโนโลยี” สหรัฐฯกับจีนได้อย่างไร

บริษัท TSMC เป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก มีส่วนแบ่งตลาดโลกที่ 53% เป็นหนึ่งในเอกชนที่สร้างความภาคภูมิใจให้ไต้หวัน เป็นผู้นำของโลกในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งในปีที่ผ่านมา “แอปเปิล” เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สั่งซื้อชิปมาใส่ในอุปกรณ์ของตนติดเป็นสัดส่วนรายได้ให้ TSMC เกือบ 26% ผลประกอบการในปีที่ผ่านมามีรายได้รวมถึง 1.8 ล้านล้านบาท กำไรสุทธิถึง 7 แสนล้านบาท

...

ทั้งนี้ ชิปหรือเซมิคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สำคัญหรือสมองกลให้สมาร์ทโฟน อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ที่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อเชื่อมต่อกับโลก ทริปของ “เพโลซี” เกิดขึ้นพร้อมๆกับความพยายามของทางการสหรัฐฯเพื่อการโน้มน้าวให้ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่รายนี้เข้าไปจัดตั้งฐานการผลิตในประเทศตน อีกทั้งให้เลิกผลิตชิปขั้นสูงให้กับบริษัทเทคโนโลยีของจีน

จากรายงานการตรวจสอบซัพพลายเชน 100 วันของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ “โจ ไบเดน” ระบุว่า สหรัฐฯต้องพึ่งพาชิปจาก TSMC เพียงบริษัทเดียวเป็นอย่างมาก และข้อเท็จจริงมีเพียงบริษัท TSMC และซัมซุงจากเกาหลีใต้เท่านั้นที่สามารถผลิตชิปที่ล้ำหน้าที่สุด (ชิป 5 นาโนเมตร) ทำให้สหรัฐฯมีความเสี่ยงในการจัดหาผลิตภัณฑ์ความมั่นคงของชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมไปถึงความ ต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

นั้นหมายความว่าในอนาคตหากเป้าหมายของจีนในการรวมไต้หวันเข้าด้วยกันสำเร็จจะไปคุกคามผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความพยายามโน้มน้าวให้ TSMC เข้าไปลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตชิปในประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายบริหารไบเดน บริษัทดังกล่าวได้ซื้อที่ดินในรัฐอริโซนาเพื่อสร้างโรงงานตามแผนการจะแล้วเสร็จอีก 2 ปีข้างหน้า

ขณะที่สภาครองเกรสของสหรัฐฯ เพิ่งจะผ่านร่างกฎหมาย Chips and Science Act ด้วยการให้งบประมาณอุดหนุนอุตสาหกรรมชิปถึง 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.85 ล้านล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่าบริษัทผู้ผลิตที่จะรับเงินอุดหนุนจะต้องไม่ผลิตชิปขั้นสูงให้กับบริษัทเทคโนโลยีของจีน

นั่นหมายความว่าบริษัท TSMC หรือผู้ผลิตชิปรายอื่นๆจะต้องเลือกการทำธุรกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีน เพราะการลงทุนในสหรัฐฯมีต้นทุนการผลิตสูงมาก หากไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

นับเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเทคโนโลยีที่สหรัฐฯตั้งเป้าที่จะจำกัดการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน และป้องกันไม่ให้มีบทบาทเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก ที่ผ่านมาเห็นความชัดเจนก็คือรัฐบาลของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรบริษัทหัวเว่ยยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนไม่ให้ TSMC ส่งชิปให้เพื่อกันใช้ชิปเพื่อใช้ในอุปกรณ์ 5G รวมไปถึงการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์จากกูเกิล

สงครามเทคโนโลยีอาจจะเห็นการกีดกันเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆในอนาคตเพิ่มขึ้นอีก.

...