การศึกษาครั้งใหม่ของออราเคิล คอร์ปอเรชั่นและนักเขียนขายดี 5 สมัยของนิวยอร์กไทมส์ เผยให้เห็นว่า 2 ปีกว่าของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด พรากความสุขไปจากผู้คน ทำให้ชาวเอเชียมากกว่าครึ่งถึงกับยอมทิ้งเพื่อน เสียรายได้ หรือไม่อาบนํ้า 1 สัปดาห์เพื่อให้ได้สัมผัสความสุขที่แท้จริงสัก 1 ชั่วโมง และ 89% ยอมรับว่าพยายามหาความสุขด้วยการซื้อของออนไลน์และมีความสุขตอนได้รับสินค้า

ทั้งนี้ ผลสำรวจดำเนินการโดย Savanta, Inc. ใน 14 ประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ อินเดีย ออสเตรเลีย เม็กซิโก บราซิล และโคลอมเบีย ตั้งแต่วันที่ 3-27 ม.ค.2565 โดยกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภค 12,183 คน ผู้บริหาร 3,125 คน อายุ 21 ปีขึ้นไป โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นสัดส่วนความเห็นของคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 5,000 ราย

ผลสำรวจบ่งชี้ว่า ผู้คนในเอเชียแปซิฟิกต้องการความสุขรูปแบบใหม่และยินดีจ่ายเพิ่ม เพราะกว่า 2 ปีมาแล้วที่โลกต้องเผชิญกับภาวะโรคระบาด ทำให้ไม่ได้สัมผัสถึงความสุขที่แท้จริง จึงต้องหาวิธีสร้างความสุขแม้ต้องจ่ายเงินเพิ่ม โดย 44% บอกว่าพวกเขาไม่ได้สัมผัสความสุขที่แท้จริงมานานกว่า 2 ปีแล้ว และ 25% ไม่รู้หรือลืมไปแล้วว่าการมีความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร ดังนั้น 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกจึงต้องการประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้ได้ยิ้มและหัวเราะ

...

ผลสำรวจบ่งชี้ด้วยว่า คน 62% บอกว่าจะยอมทิ้งเพื่อน ขณะที่ 61% ยอมสละรายได้ส่วนหนึ่ง และ 55% ยอมไม่อาบน้ำ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ได้สัมผัสความสุขที่แท้จริงสัก 1 ชั่วโมง โดย 81% พร้อมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อความสุข 89% พยายามหาความสุขด้วยการซื้อของออนไลน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด และ 47% ยอมรับว่ามีความสุขตอนที่ได้รับสินค้าที่สั่ง

นอกจากนั้น ผู้คนในเอเชียแปซิฟิก 76% เชื่อว่าแบรนด์สินค้าสามารถสร้างความสุขให้ประชาชนได้มากกว่าที่ทำอยู่ โดย 91% อยากให้แบรนด์ต่างๆสร้างความสนุกสนานมากกว่านี้ ซึ่งในจำนวนนี้มีสัดส่วนสูงมากในคน Gen Z (95%) และ Millennials (95%) 89% ยังตอบว่ามีแนวโน้มจำโฆษณาที่ตลกขบขันได้ ขณะที่ผู้บริหารธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกบอกว่าแบรนด์ของตนมีโฆษณาออฟไลน์ (โทรทัศน์และป้ายบิลบอร์ด) 17% และโฆษณาออนไลน์ 14% ที่ใช้อารมณ์ขันอย่างชัดเจน ด้านสื่อสังคมออนไลน์ คนกว่า 74% จะติดตามแบรนด์ที่สนุกสนานบนช่องทางโซเชียลมีเดีย

คน 56% ยังไม่รู้สึกผูกพันกับแบรนด์ที่ไม่ทำให้พวกเขายิ้มหรือหัวเราะ ถ้าแบรนด์ใช้อารมณ์ขัน ผู้คนมีแนวโน้มจะซื้อสินค้าซ้ำจากแบรนด์นั้น (82%) แนะนำแบรนด์แก่ครอบครัวและเพื่อน (81%) เลือกแบรนด์นั้นมากกว่าคู่แข่งอื่นๆ (76%) และยอมจ่ายเงินมากขึ้นให้แบรนด์ (67%)

เกร็ตเชน รูบิน นักเขียนขายดี 5 สมัยของนิวยอร์กไทมส์และนักพูดพอดแคสต์ กล่าวว่า “โลกกำลังขาดแคลนความสุข เราจึงพยายามเสาะหาประสบการณ์ที่ทำให้ยิ้มและหัวเราะ ซึ่งแบรนด์สินค้าสามารถช่วยได้ แบรนด์ที่ต้องการยกระดับความสุขของกลุ่มเป้าหมาย ต้องเริ่มพิจารณาจากข้อมูลและทำความรู้จักลูกค้าก่อน ด้วยวิธีนี้จะทำให้สามารถนำเสนอส่วนผสมที่ลงตัวของอารมณ์ขัน ลักษณะเฉพาะตัวของแบรนด์ และประสบการณ์ที่จะช่วยเพิ่มความภักดีและการสนับสนุนแบรนด์ได้”

ขณะที่ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศ ไทยได้ชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม ความสุขฝังอยู่ในดีเอ็นเอของผู้คน สำหรับธุรกิจยุคใหม่ ข้อมูลจึงมีบทบาทสำคัญต่อการดึงดูดลูกค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ให้มากที่สุด.