เมษายน 2022 กล่าวได้ว่านี่เป็นเดือนมหากาพย์การต่อสู้ชิงชัยเชิงธุรกิจระหว่าง อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐี ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโออีกหลายบริษัท กับ ทวิตเตอร์ ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียยอดนิยมของโลก

อีลอน มัสก์ คิกออฟสร้างกระแสฮือฮาไปทั่วโลก ด้วยการประกาศตัวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทวิตเตอร์ มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 9.2 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 4 เมษายน

เวลาผ่านไปเพียง 10 วันให้หลัง อีลอน มัสก์ ปลุกกระแสอีกครั้ง พร้อมกับทำให้โลกออนไลน์ร้อนระอุยิ่งกว่าเดิม เมื่อซีอีโอคนดังคนนี้ยินดีจ่ายเงินค่าหุ้นในราคา 54.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น เบ็ดเสร็จเป็นเงิน 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าเทคโอเวอร์ทวิตเตอร์

สถานการณ์ไม่ได้จบแต่เพียงเท่านี้ เมื่อทวิตเตอร์ใช้มาตรการทางการเงินตอบโต้การเข้าเทคโอเวอร์ทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ โดยคณะกรรมการบริหารบริษัท ใช้เทคนิควางยาพิษ (Poison pill) เนื่องจากพวกเขามองว่า การเข้ามาเทคโอเวอร์ของอีลอน มัสก์ มาในลักษณะที่ไม่เป็นมิตร หรือ Hostile takeover ซึ่งสร้างความยุ่งยากไม่น้อยต่ออีลอน มัสก์ เพราะเขาต้องใช้เงินอีกจำนวนมหาศาลทยอยไล่เก็บหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่น หากต้องการพาทวิตเตอร์ออกจากตลาดหุ้น

ขัดขวางการเทคโอเวอร์ด้วยยาพิษ

วิธีการดังกล่าวถูกเรียกว่า poison pill เป็นวิธีการทางการเงินโดยได้รับการอนุมัติผ่านบอร์ดของทวิตเตอร์ ซึ่งอนุญาตให้ผู้ถือหุ้นเดิมสามารถซื้อหุ้นออกใหม่ในราคาที่ถูกลง เป็นการสกัดกั้นการถือครองหุ้นของนักลงทุนที่หมายจะเทคโอเวอร์ กล่าวกันตามตรงก็คือ เป็นการต่อสู้ด้านราคากับอีลอน มัสก์

สำหรับแผนการพิเศษป้องกันการเทคโอเวอร์จากอีลอน มัสก์ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 14 เมษายน 2023

...

ทวิตเตอร์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ หากแต่คณะกรรมการบริษัทเชื่อว่า ทุกอย่างทำไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น

ทว่าประเด็นดังกล่าวถูกตั้งคำถามโดยอีลอน มัสก์ว่า บอร์ดของทวิตเตอร์ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นจริงหรือ เพราะในความเป็นจริงบอร์ดของบริษัท ถ้าไม่นับตัวของแจ็ค ดอร์ซีย์ อดีตซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท พวกเขามีหุ้นรวมกันไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ

ดังนั้นแล้วการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท ก็ไม่อาจสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้ถือหุ้นได้เลย

ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่นาน แจ็ค ดอร์ซีย์ ซึ่งขาข้างหนึ่งของเขา ก็ทำงานอยู่ภายใต้บอร์ดบริหารชุดเดียวกับที่อีลอน มัสก์ กล่าวโจมตี ก็ออกมาวิจารณ์การทำงานของบอร์ดที่ทำงานร่วมกับตัวเขา พร้อมกับใช้สุภาษิตทองของซิลิคอน วัลเลย์ กระทบกระเทียบถึงการทำงานของบอร์ดบริษัท โดยกล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทที่ดีไม่ได้ทำให้เป็นบริษัทที่ดี แต่คณะกรรมการบริษัทที่แย่ สามารถทำลายล้างบริษัทได้ทุกเมื่อ

ถ้าหากคิดในมุมกลับก็ชวนให้ถกในพื้นที่สาธารณะได้เช่นกันว่า ข้อเสนอของอีลอน มัสก์ ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่แย่ จำนวนเงินที่ซื้อทวิตเตอร์ก็มีมูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าตลาดของทวิตเตอร์เสียด้วยซ้ำ แต่การที่ข้อเสนอถูกปัดทิ้งออกจากโต๊ะ ทั้งหมดอาจเป็นเพราะว่า อีลอน มัสก์ ไม่ใช่คนหัวอ่อนที่จะถูกบงการโดยใครก็ได้

ทั้งนี้ หน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของทวิตเตอร์ อีแวน วิลเลียมส์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ ก็เคยใช้อำนาจผ่านบอร์ดบริหารของบริษัท ไล่แจ็ค ดอร์ซีย์ ออกจากตำแหน่งซีอีโอในปี 2008 ก่อนที่จะได้กลับมาเป็นซีอีโออีกครั้งในปี 2015

แผนการตอบโต้จากอีลอน มัสก์

ในช่วงที่อีลอน มัสก์ ไปร่วมงาน TED 2022 ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา มัสก์ ได้กล่าวว่า การพิจารณาประเด็นเทคโอเวอร์ ควรขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้น มิใช่คณะกรรมการของบริษัท แต่เมื่อการปฏิเสธการเทคโอเวอร์เกิดขึ้น จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่เห็นแผนที่สอง หรือ Plan B ออกมาจากมัสก์

นอกจากนี้ ในระหว่างที่มัสก์ยังไม่เผยไพ่ในมือ เขาก็ตกบัลลังก์ผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งของทวิตเตอร์ไปแล้ว เนื่องจากกลุ่มแวนการ์ด (Vanguard Group) ไล่สะสมหุ้นจากเดิมที่เคยมี 8.8 เปอร์เซ็นต์ ขยับขึ้นไป 10.3 เปอร์เซ็นต์เรียบร้อยแล้ว

เทคโอเวอร์เพื่อเสรีภาพของการแสดงออก

การเข้าซื้อทวิตเตอร์ อีลอน มัสก์ ได้เลือกมอร์แกน สแตนลีย์ สถาบันการเงินระดับโลกเป็นที่ปรึกษา โดยการเข้าซื้อทวิตเตอร์ มัสก์ ระบุเอาว่า ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพ เพียงแต่รูปแบบในปัจจุบันไม่เอื้อประโยชน์ต่อการเติบโต และการเปลี่ยนจากบริษัทมหาชนไปเป็นบริษัทเอกชนอีกครั้งหนึ่งนั้น ถือเป็นทางเลือกที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของทวิตเตอร์ได้ดีที่สุด

นอกจากนี้แล้ว อีลอน มัสก์ ต้องการให้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับค่านิยมสังคมประชาธิปไตย เช่นเดียวกับการประกาศว่า อัลกอริทึมของทวิตเตอร์จะต้องแปรเปลี่ยนจากระบบปิด (Closed ecosystem) ไปเป็นโอเพนซอร์ส (Opensource) โดยอยู่ในสถานะต้องตรวจสอบได้

ประเด็นของอัลกอริทึมข้างต้น ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะอันที่จริงในช่วงเริ่มแรกที่ผู้คนเริ่มพูดถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ ก็เป็นอีลอน มัสก์ ผู้นี้นี่แหละ ที่พยายามชี้ให้เห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์มีความน่ากลัวอย่างไร ซึ่งเขาก็พยายามกระตุ้นว่า ควรจะต้องทำให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นโอเพนซอร์ส เพื่อให้ทุกคนสามารถสร้างประโยชน์จากมัน พร้อมกับระบบตรวจสอบจากภายนอก

...

ทว่ายังมีสิ่งสำคัญที่ไม่อาจลืมได้ ถ้าหากแพลตฟอร์มอย่างทวิตเตอร์ ทุกคนสามารถพูดได้ทุกอย่างที่ใจคิด โดยไม่มีนโยบายตรวจสอบคอนเทนต์เลยแม้แต่นิดเดียว ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าความโกลาหลจะเกิดขึ้นมหาศาลแค่ไหนบนแพลตฟอร์มแห่งนี้ รวมการที่บริษัทโซเชียลมีเดียตกเป็นของคนหนึ่งคนใด มันมีโอกาสถูกตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหนในทางปฏิบัติ

แน่นอนว่าในประเด็นนี้ อีลอน มัสก์ สามารถตอบได้ว่า เขาจะทำทุกอย่างเพื่อวางโปรโตคอลแบบโปร่งใส เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกตรวจสอบได้ เหมือนกับที่เขาพยายามบอกว่า อัลกอริทึมของทวิตเตอร์ต้องเป็นโอเพนซอร์ส

เพื่อความเป็นธรรมควรกล่าวด้วยว่า จนถึงตอนนี้ อีลอน มัสก์ ยังไม่ได้เป็นเจ้าของทวิตเตอร์ เราจึงไม่ทราบว่า แผนการสร้างทวิตเตอร์ให้สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตย ตามที่ผู้ร่วมก่อตั้งเทสลาต้องการมีหน้าตาอย่างไร

จริงจังแค่ไหนกับการเทคโอเวอร์

แม้เจ้าตัวจะเป็นฝ่ายพูดว่า ต้องการบริหารทวิตเตอร์ให้เป็นบริการที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่ในทางตรงกันข้าม เราได้เห็นมาแล้วหลายต่อหลายครั้งว่า อีลอน มัสก์ ลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อเรียกกระแส ซึ่งการเข้าเทคโอเวอร์มันก็ชวนคิดได้เหมือนกันว่า มัสก์ กำลังจงใจปั่นกระแส หรือความกดดันบางประการต่อทวิตเตอร์รึเปล่า

นอกเหนือจากนี้แล้ว งานในปัจจุบันของ อีลอน มัสก์ ก็เรียกได้ว่า แทบจะล้นมือ ทั้งการบริหารเทสลา (Tesla), สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ไปจนถึงงานที่มีโปรเจกต์ออกมานานๆ ครั้งอย่างบอริง คอมปะนี (Boring Company) เขายังเหลือเวลาพอที่จะบริหารทวิตเตอร์แบบวันต่อวันได้จริงหรือไม่

สุดท้ายแล้วมันกลายเป็นประเด็นชวนให้ฉุกคิดไม่น้อยว่า ตกลงแล้ว อีลอน มัสก์ มีความจริงจังแค่ไหนต่อการเทคโอเวอร์ทวิตเตอร์ในครั้งนี้.