กระแสเมตาเวิร์ส (Metaverse) และ NFT (Non-fungible token) กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้างมากขึ้น และน่าจะเพิ่มมากขึ้นๆ ตลอดปี 2022 ครับ

ตั้งแต่ช่วงที่ผมเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับประเด็นของเมตาเวิร์ส ไปจนถึงเมื่อครั้งที่เกิดกระแสการสะสม NFT ผ่านรูปแบบของการ์ดไฮไลต์บาสเกตบอลภายในแพลตฟอร์ม NBA Top Shot ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน เราก็เริ่มได้เห็นสายธารการเคลื่อนไหวของเมตาเวิร์ส ในรูปแบบที่แปลกและแตกต่างมากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเริ่มเห็นแล้วว่า ได้มีอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เริ่มหันมาให้ความสนใจโลกเมตาเวิร์สและ NFT เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการเข้ามาของไนกี้ ถือเป็นสิ่งที่ทำให้หลายแบรนด์ เริ่มมองเห็นถึงความน่าสนใจของ Buzzword สองคำนี้

อันที่จริงคงไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไรครับ เพราะไนกี้ ถือเป็นแบรนด์ที่เคลื่อนไหวค่อนข้างไว สามารถจับกระแสต่างๆ ที่เป็นประเด็นร้อน ปัจจุบันทันด่วนได้ดี อีกทั้งยังถือได้ว่า ไนกี้เป็นเจ้าพ่อด้านการตลาด สามารถสร้างแคมเปญการตลาดปังๆ ได้อย่างง่ายดาย (ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย)

Nike พร้อมแล้วสำหรับเมตาเวิร์ส
Nike พร้อมแล้วสำหรับเมตาเวิร์ส

...



ตามด้วยคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่างอาดิดาส ก็ประกาศเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สในเวลาไล่เลี่ยกัน ตีคู่ไปกับอันเดอร์ อาร์เมอร์ ซึ่งใช้ความโด่งดังของ “สตีเฟน เคอร์รี” การ์ดสามแต้มมือฉมัง เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน พาอันเดอร์ อาร์เมอร์ เข้าสู่ NFT ผ่านแคมเปญการยิงสามคะแนนทำลายสถิติมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบาสเกตบอลเอ็นบีเอ

แม้ทางด้านแบรนด์จะเริ่มมองเห็นคุณค่าที่แฝงตัวอยู่ในเมตาเวิร์สและ NFT แต่เหล่าสนีกเกอร์เฮดอีกจำนวนไม่น้อย มองสองสิ่งซึ่งกำลังฮอตและฮิตในเวลานี้ด้วยสายตาที่แตกต่างกันครับ ความเป็นเมตาเวิร์สและ NFT ดูเป็นแนวทางที่ “ไร้สาระ” และไม่ได้มีอะไรใหม่ พลางให้ความเห็นว่า NFT หรือสนีกเกอร์แบบเวอร์ชวล ไม่ต่างจากการ์ดสะสมแบบดิจิทัล ซึ่งสัมผัสจับต้องใดๆ ไม่ได้

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่ NFT ยังเป็น “สิ่งใหม่” จนไม่มีใครสามารถประเมินราคาที่แท้จริงของมันได้ จนทำให้ NFT มีสภาพไม่แตกต่างจาก Money game ของคนรวย ไม่นับรวมถึงการแปลงค่าเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันไปเป็นสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งก็มีความยากลำบากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้คุ้นชินกับระบบของสกุลเงินดิจิทัล

ในกรณีนี้ คล้ายกับโลกของแฟชั่น ซึ่งบ่อยครั้งเรามักจะเห็นสิ่งที่เรียกว่า กระแสของการ “Hype” ส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงกว่าที่ราคาป้าย

ประเด็นดังกล่าว คงเป็นเพราะว่า ผู้บริโภคเชื่อในสินค้าของแบรนด์นั้นๆ พร้อมทั้งยังเป็นการบ่งบอกถึงสัญลักษณ์ เอกลักษณ์ สถานะ และวัฒนธรรม แล้วหลอมเป็นตัวตนของผู้สวมใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เป็นเจ้าของไอเทมหายากที่คนส่วนใหญ่ไม่มี

เมื่อมีไนกี้ ก็ต้องมีอาดิดาส บนเวทีเมตาเวิร์ส
เมื่อมีไนกี้ ก็ต้องมีอาดิดาส บนเวทีเมตาเวิร์ส



อย่างไรก็ตาม ในหลายครั้งสนีกเกอร์แบบเวอร์ชวลก็มีราคาที่แพงกว่าสนีกเกอร์ปกติ หรือ Physical sneakers เสียด้วยซ้ำ นั่นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก ถ้าหากสนีกเกอร์เฮดจำนวนมากจะเลือกซื้อสนีกเกอร์แบบที่จับต้องได้มากกว่าสนีกเกอร์ที่อยู่ในโลกเสมือน

ในทางตรงกันข้ามมุมมองของสนีกเกอร์เฮด ซึ่งสะสมงาน NFT และให้ความสนใจกับโลกเมตาเวิร์สก็มีอยู่ไม่น้อย พวกเขาเหล่านี้ มองว่า NFT หรือสนีกเกอร์แบบเวอร์ชวล ถือเป็นงานศิลปะและของสะสม ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจแบบเดียวกับงานศิลปะแบบดั้งเดิม

ในส่วนแนวทางของแบรนด์ในอุตสาหกรรมสนีกเกอร์ ประเมินว่า พื้นที่ของเมตาเวิร์ส สามารถเป็นพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาไปวิ่งเล่นตรงนั้นได้ เพราะถ้าหากมองในเชิงการตลาดแล้ว ผู้ผลิตสนีกเกอร์สามารถทำการตลาดคู่ขนานไปพร้อมกันได้ทั้งออฟไลน์และเมตาเวิร์ส เพื่อเป็นการ “หยั่งกระแส” ว่าสินค้าชิ้นนั้นๆ จะให้ผลตอบรับที่ดีหรือไม่ นอกเหนือจากการปล่อยภาพออกมาโปรโมตลงสู่โลกโซเชียลมีเดีย

ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะแบรนด์สามารถใช้พื้นที่ของเมตาเวิร์ส ให้ลูกค้าของแบรนด์นั้นๆ ทดลองสวมใส่เสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่ในโลกเมตาเวิร์ส ก่อนที่จะพิจารณาซื้อไอเทมชิ้นนั้นมาอยู่บนร่างกายในโลกของความเป็นจริง

หรืออาจเป็นกรณีคู่ขนานที่แบรนด์สามารถใช้รูปแบบทางการตลาดในโลกของความเป็นจริงให้ไปปรากฏบนโลกเมตาเวิร์ส ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณซื้อ Nike Air Force 1 ภายในกล่องจะแถม Redeem card ให้คุณนำไปปลดล็อกรองเท้าคู่นี้เพื่อไปใส่ในเมตาเวิร์ส

เมตาเวิร์ส โลกใหม่ที่ทุกคนสนใจ
เมตาเวิร์ส โลกใหม่ที่ทุกคนสนใจ

...



คงต้องบอกแบบนี้นะครับว่า อย่าดูเบาการซื้อไอเทมเพื่อตกแต่งตัวละครในเกมให้ดูสวย ดูเท่นะครับ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ จะไม่มีผลต่อฝีไม้ฝีมือในการเล่น แต่มีผลไม่น้อยครับ ต่อการทำให้ผู้เล่นอยากเล่นเกมนั้นๆ และอยากอวดสวย อวดหล่อของตัวละครผ่านเกมนั้นๆ เป็นต้น

ส่วนที่ยากที่สุด ก็คือ ในเวลานี้ทั้งเมตาเวิร์ส ทั้ง NFT ต่างก็อยู่ในโลกที่ต่างคนต่างอยู่ สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่ก็ไม่สามารถไปปรากฏบนอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง อีกทั้งสินทรัพย์เหล่านี้ ก็จะมีค่าเท่ากับ “ศูนย์” เมื่อแพลตฟอร์มนั้นๆ ยุติการให้บริการ กลายเป็น “ดุลพิจินิจ” ของเจ้าของแพลตฟอร์ม

แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว แนวทางของเมตาเวิร์ส จะเป็นเกมยาว และยังต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าที่ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง ซ้ำร้ายเมื่อถึงเวลาที่เมตาเวิร์สพร้อมขึ้นมาจริงๆ ก็อาจมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากความเข้าใจเดิมของเราในตอนนี้เสียด้วยซ้ำครับ

อ้างอิง: Binance [1], [2], The Information