เริ่มต้นปี 2022 ยังไม่พ้นเดือน วงการเกมและวงการเทคโนโลยี เป็นอันต้องสะเทือน เมื่อเกิดการควบรวมกิจการของไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่มีต่อแอคติวิชัน บลิซซาร์ด (Activision Blizzard)
เป็นที่ทราบกันดีโดยเฉพาะในหมู่คอเกมด้วยกันว่า ค่ายแอคติวิชัน บลิซซาร์ด มีเกมฮอตเกมฮิตอยู่ในมืออย่างมากมาย ซึ่งคนที่สถาปนาตัวเองว่าเป็นเกมเมอร์ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเคยเล่นเกม Diablo, Warcraft, Overwatch, StarCraft และ Call of Duty ของค่ายนี้
การที่ยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ ยอมทุ่มเงินระดับเฉียด 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) เพื่อคว้าแอคติวิชัน บลิซซาร์ด อย่างน้อยๆ พวกเขาดีดลูกคิดมาเป็นอย่างดีแล้วว่า ไม่ว่าอย่างไรดีลนี้ ไมโครซอฟท์คุ้มแน่ๆ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ดีลนี้สามารถต่อยอดธุรกิจ สินค้าและบริการของไมโครซอฟท์ได้อีกเป็นกระบุง
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังตลาดหุ้นเปิดทำการ ผลกระทบจากดีลระหว่างไมโครซอฟท์และแอคติวิชัน บลิซซาร์ด ก็พ่นพิษใส่โซนี่ (Sony) ทันที เพราะนั่นทำให้หุ้นของโซนี่ร่วงเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ ความกังวลในมุมของนักลงทุน เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะแต่เดิมเกมของค่ายแอคติวิชัน บลิซซาร์ด เป็นเกมที่วางจำหน่ายแบบมัลติแพลตฟอร์ม ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก หากนักลงทุนจะมีคำถามพ่วงตามมาว่า แล้วแบบนี้เกมดังในมือของแอคติวิชัน บลิซซาร์ด ที่จะอยู่ในมือของไมโครซอฟท์อย่าง Call of Duty และ Overwatch 2 (ซึ่งเป็นเกมในอนาคตและยังไม่ชัดเจนว่ารูปแบบของเกมจะประสบความสำเร็จหรือไม่) จะเป็นอย่างไร
ในเวลาเดียวกัน ดีลที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ของไมโครซอฟท์ ย่อมเป็นการ “บีบ” ให้โซนี่ ต้องทำอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะการเข้าซื้อบริษัทเกมยักษ์ใหญ่อย่างน้อยหนึ่งบริษัทหรือไม่ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ผู้บริโภคซึ่งแต่เดิมเป็นลูกค้าของโซนี่ก็อาจหันไปมองที่ Xbox Series X หรือ Xbox Series S มากขึ้น พร้อมกับความน่าดึงดูดใจของ Xbox Game Pass กลายเป็นการท้าทายทำสงครามไปยังโซนี่โดยตรง
นอกจากนี้แล้ว ในดีลดังกล่าว เป็นการเร่งปฏิกิริยาให้กับทางโซนี่นั่งไม่ติดเก้าอี้ โดยเฉพาะการขยายแพลตฟอร์มของตัวเองให้ไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่ใช่ PlayStation ได้แก่ การนำเกมเอ็กซ์คลูซีฟเดิมของ PlayStation 5 ไปลงบนพีซี และสมาร์ทโฟน
...
แม้ฟิล สเปนเซอร์ หัวหน้าฝ่ายไมโครซอฟท์ เกมมิง จะออกมาบอกว่า ไม่มีความต้องการที่จะดึงผู้เล่นออกจากแพลตฟอร์มคู่แข่ง เพราะเกมอย่าง Call of Duty เป็นเกมที่ฐานผู้เล่นเป็นจำนวนมาก การวางจำหน่ายครบทุกแพลตฟอร์มอาจเป็นเรื่องที่ดีและสามารถสร้างรายได้ให้กับไมโครซอฟท์ได้มากกว่า อีกทั้งในอดีตเกมดังๆ ที่อยู่ในมือไมโครซอฟท์จำนวนมากก็วางจำหน่ายในรูปแบบของมัลติแพลตฟอร์ม ที่เห็นชัดๆ ก็มี Minecraft
อย่างไรก็ดี ผลงานหรือแนวทางในอดีตก็ไม่สามารถครอบคลุมมาถึงปัจจุบันได้ เพราะเมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน ไมโครซอฟท์ ก็เพิ่งช็อปปิ้งคว้าเบเธสดา (Bethesda) เข้าสู่อาณาจักรของไมโครซอฟท์ และโอกาสที่เกมซึ่งจะวางจำหน่ายในปี 2022 เป็นต้นไป จะเป็นเกมเอ็กซ์คลูซีฟลงเฉพาะ Xbox หรือ PC เท่านั้น ก็มีความเป็นไปได้ โดยอาจมีบางเกมเป็นส่วนน้อยที่วางจำหน่ายบน PlayStation 5
อันที่จริงแล้ว การที่แอคติวิชัน บลิซซาร์ด ยอมขายบริษัทของตัวเองให้กับไมโครซอฟท์ มันยังมีมิติในแง่ของการเมืองภายในด้วย ถ้าหากใครที่ตามหน้าข่าววงการเกมจะเห็นได้ว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการขุดปัญหาหมักหมม ซึ่งเกิดขึ้นในวงการเกมจากใต้ดินขึ้นมาสู่บนดิน ทั้งประเด็นของการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน มีนโยบายการจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม ไปจนถึงการกีดกันเชื้อชาติ
ในประเด็นนี้ แอคติวิชัน บลิซซาร์ด ก็อยู่ในสถานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกครับ เพราะพวกเขาก็กำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้ชนิดที่ว่าหนักหน่วงไม่น้อย ด้วยปัญหาเรื่องชื่อเสียงที่ไม่ดี ส่งผลให้นักพัฒนาเกมจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไม่ทำงานร่วมกับแอคติวิชัน บลิซซาร์ด แต่เลือกไปก่อตั้งบริษัทเองหรือไปทำงานบริษัทเกมอื่น
ปัญหาที่ตามมาสำหรับค่ายเกมของแอคติวิชัน บลิซซาร์ด ก็คือ พวกเขาจะพัฒนาเกมออกใหม่ทุกปีได้อย่างไร ในเมื่อนักพัฒนาเกมในมือมีจำกัด
ภาระงานหนักต่อไปหลังจากนี้ ก็จะเป็นของไมโครซอฟท์นี่แหละครับ ที่จะต้องสะสางปัญหาวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษของแอคติวิชัน บลิซซาร์ดให้ได้ มองในแง่หนึ่ง ไมโครซอฟท์ ก็ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับวัฒนธรรมองค์กร แล้วก็ทำได้สำเร็จ ภายใต้ยุคของซีอีโอคนปัจจุบัน สัตยา นาเดลลา นั่นเอง แต่ก็ต้องย้ำเช่นกันว่า การปรับล้างวัฒนธรรมองค์กรในแอคติวิชัน บลิซซาร์ด ต้องใช้เวลาและไม่ใช่งานง่าย รวมถึงการปรับทิศทางการนำเสนอของเกมที่มาจากค่ายแอคติวิชัน บลิซซาร์ด อีกด้วย
...
ทางด้าน บ็อบบี โคทิก ซีอีโอของแอคติวิชัน บลิซซาร์ด เปิดเผยถึงการทำข้อตกลงกับไมโครซอฟท์ในช่วงเวลานี้ว่า เมื่อมองไปถึงการแข่งขันในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ แอคติวิชัน บลิซซาร์ด ไม่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ แมชชีนเลิร์นนิง การวิเคราะห์ข้อมูล คลาวด์ และความมั่นคงทางไซเบอร์ ใดๆ จึงไม่สามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่างเทนเซ็นต์, เน็ตอีส, โซนี่, กูเกิล, ไมโครซอฟท์, แอปเปิล, เฟซบุ๊ก, แอมะซอน และเน็ตฟลิกซ์
เมื่อทักษะแห่งอนาคตเป็นที่แอคติวิชัน บลิซซาร์ด ไม่มี จึงทำให้เปิดโอกาสในการเจรจา แล้วก็เป็นฟิล สเปนเซอร์ จากไมโครซอฟท์ เกมมิง ยื่นข้อเสนอที่ดีมากเข้ามา นี่จึงถือเป็นการเข้าถึงทรัพยากรแห่งอนาคตอีกช่องทางหนึ่งสำหรับแอคติวิชัน บลิซซาร์ด นอกจากนี้ ราคาที่ไมโครซอฟท์ ยื่นมานั้นสูงกว่ามูลค่าของหุ้นถึง 45 เปอร์เซ็นต์ เป็นใครบ้างที่จะไม่รีบคว้าข้อเสนอนี้ไว้ บนข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทก็กำลังปั่นป่วนวุ่นวายอย่างหนัก
พร้อมกันนี้ บ็อบบี โคทิก เน้นย้ำด้วยว่า ในภาพรวมถ้าหากมองด้วยเลนส์ของการเป็นบริษัทเกม แอคติวิชัน บลิซซาร์ด อาจเป็นบริษัทที่ใหญ่จริงๆ แต่เมื่อเทียบกับบริษัทที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทเหล่านั้น ล้วนใหญ่กว่าแอคติวิชัน บลิซซาร์ด ทั้งสิ้น ต่อให้แอคติวิชัน บลิซซาร์ด ไปรวมกับอีเอ (EA) อีกหนึ่งบริษัทผู้ผลิตเกมชั้นนำ นั่นก็ไม่ได้ทำให้บริษัทใหญ่พอที่จะสู้กับพี่เบิ้มเหล่านั้นอยู่ดี
คำถามต่อมา หากวันหนึ่งวันใด ไมโครซอฟท์ ตัดสินใจว่า Call of Duty จะเป็นเกมเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะ Xbox Series X และ Xbox Series S ไปจนถึง PC เท่านั้น จะเกิดปัญหาขึ้นทันทีเลยครับ เพราะปัญหาที่ว่านี้ จะถูกตั้งคำถามขึ้นมาทันทีว่า ไมโครซอฟท์ กำลังใช้อิทธิพลผูกขาดวงการเกมใช่หรือไม่
เท่านั้นยังไม่พอ พวกเขามีสิทธิ์ถูกบริภาษจากผู้คนไปทั่วทุกสารทิศ เพราะมันกำลังเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคใช่หรือไม่ ผู้บริโภคที่ต้องการเล่นเกมใดๆ ก็ตามในเครือของแอคติวิชัน บลิซซาร์ด รวมถึงเบเธสดา พวกเขากำลังถูกบีบให้ต้องซื้อ Xbox Series X หรือ Xbox Series S (และอาจจำยอมต้องเปลี่ยนไปเล่นเกมบน PC แทน) เพื่อเล่นเกมเหล่านี้
...
ส่วนกรณีที่เชื่อว่าใครหลายคนคงสนใจ นั่นคือ การซื้อกิจการแอคติวิชัน บลิซซาร์ดของไมโครซอฟท์ส่งผลต่อเมตาเวิร์สหรือไม่ ผมคิดว่ายังคงเร็วเกินไปที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การควบรวมกิจการครั้งนี้ มีเหตุผล 3 ข้อใหญ่ๆ ที่ใหญ่กว่าเรื่องของเมตาเวิร์ส (Metaverse)
ข้อแรก เพราะไมโครซอฟท์ต้องการให้ลูกค้าเข้าหา Xbox มากขึ้น ข้อที่สองพวกเขาต้องการจำนวนสมาชิก Game Pass ที่มากขึ้น และข้อสามการผลิตเกมสำหรับสมาร์ทโฟน โดยเมตาเวิร์ส ไม่น่าจะอยู่สมการใดๆ แต่คงจะเป็นเฟสงานที่ไมโครซอฟท์เตรียมไว้เพื่ออนาคตครับ
จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า ข้อตกลงของไมโครซอฟท์และแอคติวิชัน บลิซซาร์ด จะถูกขัดขวางโดยระเบียบด้านการผูกขาดที่มีอยู่หรือไม่ แต่ผมอยากบอกแบบนี้ครับว่า ดีลนี้ คงไม่สำเร็จง่ายๆ เพราะลักษณะการเทคโอเวอร์ของไมโครซอฟท์ มีหลายประการอยู่ในสภาวะ “สุ่มเสี่ยง” ที่จะเข้าสู่การผูกขาด ซึ่งเรื่องนี้ คงต้องมารอดูกันอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับเกมเมอร์ชาวไทย เมื่อเห็นกระแสที่เกิดขึ้นแล้วอยากได้ Xbox Series X|S มาไว้ในการครอบครอง คงต้องบอกตรงนี้ครับว่า “มืดมน” เพราะทางฝั่งไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ไม่เคยขยับตัวในเรื่องธุรกิจเครื่องเล่นเกมคอนโซลให้เห็นสักครั้งเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากครับ
อ้างอิง: FT, VentureBeat [1], [2], Yahoo Finance
...