รัฐสภาของประเทศเกาหลีใต้ ไฟเขียวร่างกฎหมายห้ามผู้ให้บริการแอปสโตร์ ไม่ว่าจะมาจากค่ายกูเกิลหรือแอปเปิล ไม่ผูกขาดโดยแพลตฟอร์ม และนักพัฒนาจะต้องมีอิสระในการเลือกช่องทางการชำระเงิน 

ประเด็นการผูกขาดช่องทางการชำระเงินภายใน App Store หรือ Play Store ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มศูนย์กลางแอปพลิเคชันของแอปเปิล (Apple) และกูเกิล (Google) เป็นที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วง เนื่องจากทั้งกูเกิลและแอปเปิล ต่างเรียกค่าต๋งสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ 

กระทั่งนำไปสู่การฟ้องร้องของสำนักงานอัยการในสหรัฐฯ กว่า 37 รัฐ รวมถึงการเคลื่อนไหวล่าสุดของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าแอปเปิลและกูเกิล กำลังทำธุรกิจผูกขาด

ล่าสุดรัฐสภาของประเทศเกาหลีใต้ อนุมัติร่างกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการแอปสโตร์รายใหญ่ ทั้งที่มาจากกูเกิลและแอปเปิล บังคับให้นักพัฒนาต้องใช้ระบบการชำระเงินจากยักษ์ใหญ่ทั้งสอง

ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการโหวตด้วยคะแนนเสียง 180 เสียง จาก 188 คน ที่เข้าร่วมการแก้กฎหมายธุรกิจโทรคมนาคม หรือที่เรียกในชื่อเล่นว่า Anti-Google law

หลังกฎหมายดังกล่าวผ่านรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางฟากฝั่งกูเกิล ดูเหมือนจะน้อมรับด้วยดี โดยจะนำไปไตร่ตรองถึงวิธีการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ พร้อมกับความพยายามรักษาคุณภาพของแพลตฟอร์ม ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ตรงกันข้ามกับแอปเปิล ซึ่งมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบในเชิงลบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานที่มีต่อแพลตฟอร์ม นำไปสู่โอกาสที่ลดลงของนักพัฒนาที่ได้ลงทะเบียนกับแอปเปิลไว้เป็นจำนวน 4.82 แสนราย และรายรับในภาพรวมถึง 8.55 ล้านวอน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แอปเปิล ตัดสินใจลดความแข็งกร้าวของตัวเองลง โดยยอมอนุญาตให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันสามารถส่งอีเมลไปยังผู้ใช้งานเพื่อแนะนำช่องทางการชำระเงินในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากระบบชำระเงินของ App Store ได้

ขณะที่กูเกิล ก็ถูกเปิดเผยโดยเอกสารในการฟ้องร้องระหว่างเอพิค เกม และกูเกิล ซึ่งเอกสารฉบับนั้นระบุว่า กูเกิล มีรายรับจาก Play Store ของตัวเองสูงถึง 1.12 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำไรจากการดำเนินการ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา: Reuters

...