เฟซบุ๊ก (Facebook) พี่เบิ้มแห่งโลกโซเชียลมีเดีย ขอคำปรึกษาจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือการเลือกตั้ง ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต

นับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 เป็นต้นมา เฟซบุ๊ก ถูกโจมตีอย่างหนักว่าแพลตฟอร์มแห่งนี้ ได้ถูกบิดเบือนด้านการโฆษณาและโพสต์ต่างๆ ที่มาจากประเทศรัสเซีย จนนำมาสู่การเลือกตั้งในปี 2020 ซึ่งได้ออกมาตรการระงับการซื้อโฆษณาในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ตามด้วยการปิดระบบซื้อโฆษณาในช่วงหลังปิดหีบเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ก กำลังเล็งเห็นว่าในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งถัดไปของสหรัฐฯ ประเด็นการเลือกตั้ง การโฆษณาบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ก็จะกลายเป็นประเด็นให้ถูกพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง

รายงานของสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ส เปิดเผยว่า เฟซบุ๊กได้ทำการติดต่อนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการเลือกตั้งโดยเฉพาะ

รายละเอียดจนถึงเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่มีความเป็นไปได้ว่าคณะกรรมการที่เฟซบุ๊กจัดตั้งขึ้นมานั้น สามารถตัดสินใจในประเด็นสำคัญต่างๆ ได้ อาทิ การยิงโฆษณา การจัดการข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ในช่วงที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก ถูกโจมตีจากทุกกลุ่มขั้วการเมือง เพียงแต่ถ้าถามความเห็นในกลุ่มของผู้สนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยมในสหรัฐฯ พวกเขาก็จะมองว่าเฟซบุ๊กมีอคติกับกลุ่มอนุรักษนิยม และมีความพยายามที่จะปรามเสียงของพวกเขา

ประเด็นข้างต้น แหล่งข่าว ระบุว่า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก ไม่อยากเข้ามาตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับคอนเทนต์ทางการเมืองมากนัก การมอบหมายให้กับผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณาอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ถ้าหากการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการเลือกตั้งขึ้นมาเพื่อรับมือกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คาดว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็น่าจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ Oversight Board ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก และเคยพิจารณาแบนบัญชีของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากเหตุจลาจลในรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ข้อแตกต่างระหว่างคณะกรรมการที่ปรึกษาการเลือกตั้งกับ Oversight Board อยู่ตรงที่คณะกรรมการชุดหลังจะทำหน้าที่ในเชิงรับ จะพิจารณาการเรื่องที่เป็นประเด็นและถูกส่งมาให้วินิจฉัย ส่วนคณะกรรมการกลุ่มแรกเน้นทำงานในเชิงรุก

นิวยอร์กไทม์ส รายงานต่อไปว่า ในปีหน้า 2022 จะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งในหลายประเทศ เช่น ฮังการี, เยอรมนี, บราซิล และฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าหน่วยงานที่ดูแลด้านการเลือกตั้งจะดูความเคลื่อนไหวของข้อมูลบนเฟซบุ๊กอย่างใกล้ชิด

ที่มา: The New York Times

...