ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ตั้งเป้าเดินหน้าหวังพาสังคมไทยก้าวเข้าสู่ชีวิตดิจิทัล ตั้งเป้ายกระดับทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skill) ของคนไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ทำงานไมโครซอฟท์มาเป็นเวลา 4 ปี ในปีต่อไป จะเป็นปีที่ไมโครซอฟท์เรียกว่า Year of Empowerment กล่าวคือเป็นการเดินหน้าสร้างสิ่งใหม่ ทั้งในส่วนของคนไทย องค์กรไทย และสังคมไทย

นายธนวัฒน์ อธิบายว่า หนึ่งสิ่งที่ไมโครซอฟท์อยากผลักดันมากที่สุด นั่นคือ เรื่องของการสร้างทักษะใหม่ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skill) โดยไมโครซอฟท์วางเป้าหมายที่จะผลักดันให้คนไทยมีทักษะใหม่ด้านดิจิทัลเกินกว่า 10 ล้านคน ตั้งแต่บุคลากรครู นักเรียน แรงงาน ซึ่งเนื้อหาด้านดิจิทัลที่ไมโครซอฟท์นำมาเพิ่มทักษะก็จะมี Microsoft Azure บริการคลาวด์, Azure Data & AI ด้านข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ และ PowerBI เป็นต้น

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ ประเมินว่า การที่มีทักษะด้านดิจิทัล จะสามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศได้ โดยเฉพาะถ้าหากคนไทยมีทักษะด้านดิจิทัล ก็จะกลายเป็นการสร้างความสามารถใหม่ๆ จนเกิดการแข่งขันในระดับสูง ส่งผลให้บริษัทในไทยแข็งแรง รวมถึงประเทศไทยด้วย

พร้อมกันนี้ ในส่วนของสตาร์ทอัพ ธุรกิจทุกขนาด ไปจนถึงภาครัฐ ถ้าหากมีความเข้าใจในเรื่อง Digital Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ก็จะมีโอกาสเข้าใจลูกค้า ได้เห็นกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ไปจนถึงการเพิ่มมาตรฐานด้านดิจิทัลในระดับนานาชาติอีกด้วย

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์

...

ขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ ได้ประกาศด้วยว่า บริการ Microsoft Teams และ Microsoft 365 ได้ผ่านการตรวจประเมินมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของระบบควบคุมการประชุม โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เรียบร้อยแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา จึงทำให้การประชุมออนไลน์ทั้งในส่วนที่เป็นการประชุมทั่วไป หรือประชุมลับก็จะอยู่ในระดับมาตรฐานความปลอดภัย โดยในช่วงที่ผ่านมาทั้งสองบริการมีตัวเลขการเติบโตระดับหลักพันเปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้เปิดตัว Cloud for Sustainability ซึ่งเป็นกลุ่มคลาวด์โซลูชันสำหรับองค์กร พร้อมเครื่องมือในการติดตามข้อมูล การวัดผล และรายงานสรุปด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ได้วางเป้าหมาย 4 อย่างด้วยกัน ประกอบไปด้วย 1. มุ่งสู่สถานะ Carbon Negative (กำจัดมลภาวะคาร์บอนมากกว่าได้มากกว่าปริมาณที่ปล่อยออกสู่ภายนอก) ภายในปี 2030 2. มุ่งสู่สถานะ Water Positive (คืนน้ำสะอาดสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่าที่นำมาใช้) ภายในปี 2030

ต่อมาคือ 3. มุ่งสู่สถานะ Zero Waste (ลดขยะให้เป็นศูนย์) ภายในปี 2030 และ 4. พัฒนาระบบ Planetary Computer ด้วยคลาวด์ที่รวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก พร้อมให้นักวิจัยด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ค้นหาคำตอบของปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ.