ในวันนี้กระแสของ “Clubhouse” แอปพลิเคชันเครือข่ายสังคมออนไลน์ประเภทคุยกันผ่านเสียงในห้องสนทนาต่างๆกำลังมาแรงสุดๆ ใครไม่รู้จักคงจะคุยกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง

จากการเปิดตัวประมาณเดือน เม.ย.ในปีที่ผ่านมาโดยสองคู่หูชื่อ “พอล” กับ “โรฮัน” จากเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา นับว่าได้แจ้งเกิดท่ามกลางการแพร่ระบาดไวรัสโควิด–19

มีรายงานว่า สิ้นสุดเดือน ธ.ค.มีผู้โหลดแอปแล้วกว่า 2.3 ล้านครั้ง มีผู้ประเมินกันว่ามูลค่าของ Clubhouse เมื่อตีเป็นตัวเลขช่วงเดือน ธ.ค. ซึ่งผ่านมาแค่ไม่กี่เดือนเองมีมูลค่าเกือบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาถึง 21 ม.ค. พุ่งแตะ 1,000 ล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้วแม้ในขณะนี้ยังจำกัดอยู่เฉพาะผู้ใช้ในแพลตฟอร์มของ “ไอโฟน” เพียงรายเดียวก็ตาม ส่วนแพลตฟอร์ม “แอนดรอยด์” ต้องรออีกสักพักจะได้ทดลองใช้อย่างแน่นอน

สองผู้ก่อตั้งได้ระบุว่า ในช่วงของการเริ่มเปิดให้บริการแรกๆนั้นแอปนี้ยังเริ่มต้นอย่างหยาบๆ และไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง คอยรวบรวมคำติชมจากผู้ใช้งานอย่างเงียบเพื่อพัฒนาให้พร้อมสำหรับการใช้แอปของทุกคน

...

แต่ในยุคนี้การซุ่มทำเงียบๆมันไม่ได้ผล จึงต้องออกมาให้ผู้คนช่วยแชร์ไอเดียซึ่งมีทั้งติและชม จนผู้คนได้มีความเข้าใจว่าพวกเขา วางแผนการสร้างอนาคตอย่างไร

พวกเขาได้อธิบายด้วยว่า การมุ่งเน้นการสนทนาด้วยเสียงในห้องต่างๆ ซึ่งมีมากมายเต็มไปหมดนั้น สามารถเข้าร่วมฟังบุคคลผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ผู้ใช้งานสามารถเข้า-ออกแต่ละห้องได้ในฐานะสมาชิกผู้ฟัง แต่ถ้าต้องการพูดคุยเพียงแค่ยกมือขึ้นด้วยวิธีกดปุ่มยกมือ วิทยากรในแต่ละห้องสามารถเชิญคุณพูดร่วมแชร์ในห้องได้

อีกทั้งยังสามารถสร้างห้องสนทนาได้เอง เป็นห้องหรือสถานที่พบปะเพื่อนฝูงและผู้คนใหม่ๆ จากทั่วโลก เพื่อบอกเล่าเรื่องราว หรือถามคำถาม ร่วมถกเถียง เรียนรู้ และสนทนาแบบทันควันในหัวข้อต่างๆมากมาย

สาเหตุที่เลือกการสนทนาผ่านเฉพาะเสียงนั้น พวกเขาคิดว่าเสียงเป็นสื่อที่พิเศษมาก เมื่อไม่ได้เปิดกล้องเราก็ไม่ต้องกังวลการสบตา หรือมองสิ่งที่สวมใส่หรือว่าอยู่ที่ไหนกัน เราสามารถคุยด้วยเสียงในคลับเฮาส์ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นั่งพับเสื้อผ้า ให้นมลูก นั่งทำงาน หรือวิ่งเล่น แทนที่จะพิมพ์อะไรบางอย่างแล้วกดปุ่ม

การพูดด้วยเสียงมักจะมีความสามารถในการสร้างความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น นี่คือสิ่งที่พวกเขาสื่อออกมา

สำหรับข้อสงสัยว่ายังไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปใช้งาน เพียงแค่ให้สมาชิกทำการเชิญเข้าร่วมได้สมาชิกละ 2 คนเท่านั้น เพราะว่า ระบบยังไม่พร้อม การขยายตัวอย่างช้าๆ แทนที่จะเพิ่มฐานผู้ใช้งานถึง 10 เท่าในชั่วข้ามคืนจะช่วยให้องค์ประกอบของชุมชนมีความหลากหลายและช่วยปรับแต่งผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นทีมเล็กๆ

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้แอปนี้ดังจนต้องตามไปดูกันเพราะ “อีลอน มัสก์” ผู้ก่อตั้งเทสล่า และสเปซเอ็กซ์ ผู้โด่งดังในโลกโซเชียล ได้ระบุว่าใช้แอปนี้ด้วยเช่นเดียวกับ “มาร์ค ซัสเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก

เห็นการแจ้งเกิดของ Clubhouse ในยุคโควิดแล้ว นึกถึงแอป Line ที่แจ้งเกิดจากเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่นที่การสื่อสารเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง จนกลายเป็นช่องทางสื่อสารที่สำคัญและนิยมจนถึงทุกวันนี้.