“ลาห์ติ” เมืองไม่เล็กไม่ใหญ่ของฟินแลนด์ ประชากร 120,000 คน เสนอรางวัลดึงดูดให้คนหันมาใช้ชีวิตสีเขียว ลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มใช้ระบบขนส่งมวลชน หรือรูปแบบการเดินทางอื่นๆเช่น จักรยาน

ใช้แอปพลิเคชันมือถือสมาร์ทโฟน ผลักดันโปรเจกต์ “ซิตี้แคป” (CitiCap) ที่สหภาพยุโรป (EU) สนับสนุนทุน

แอปพลิเคชันที่ว่าจะตรวจสอบคนนั้นๆ อยู่บนรถส่วนตัว ระบบขนส่งสาธารณะ เดิน หรือปั่นจักรยาน

ใครใช้รถยนต์หรือวิถีชีวิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคาร์บอน (CO2) ก๊าซต้นเหตุก่อปัญหาโลกร้อน น้อยกว่าโควตาที่จัดสรรให้ในแต่ละสัปดาห์จะได้เงินยูโรเสมือนจริงไปใช้แลกตั๋วรถเมล์ อาหารหรือเครื่องดื่มฟรี

“ลาห์ติยังเป็นเมืองพึ่งพารถอยู่มาก เป้าหมายคือมุ่งส่งเสริมทำให้ 50% ของการเดินทางทั้งหมดใช้ระบบขนส่งที่ยั่งยืน ภายในปี 2573 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า” แอนนา ฮุตตูเนน ผจก.โครงการซิต้ีแคป กล่าว

ความจริงซิต้ีแคปยังมีเป้าหมายกว้างกว่านี้ นั่นคือการพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ส่งเสริมให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเข้าสู่โหมดสีเขียว หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ระบบ “การซื้อขายคาร์บอนส่วนบุคคล” (personal carbon trading) ประเทศอื่นๆสามารถนำไปปรับใช้ทำตามได้

...

ระบบซื้อขายคาร์บอนส่วนบุคคลถอดไอเดียจาก “ระบบซื้อขายคาร์บอนของอียู” บริษัทหรือรัฐบาลได้รับการจัดสรรโควตาหรือเครดิตคาร์บอน มีผลผูกพันต้องจ่ายเงินถ้าใช้เกินโควตา

ถ้าปล่อยคาร์บอนน้อย สามารถขายคาร์บอนเครดิตที่เหลือในมือได้

การระบาดของไวรัสโควิด-19 คนเดินทางน้อย ทีมวิจัยจึงยังไม่อาจเห็นภาพรวมผลงานของซิตี้แคปชัดเจน ต้องเก็บข้อมูลจนถึงปีหน้าที่ซึ่งเมืองลาห์ติจะได้รับรางวัล “เมืองเอกสีเขียวแห่งยุโรป” -(European Green Capital)

ปัจจุบันมีผู้ใช้แอปฯของซิตี้แคปที่เมืองลาห์ติ 2,000 คน และมีผู้ใช้แอปฯมากถึง 200 ยูสเซอร์ในแต่ละครั้ง

เจ้าหน้าที่หญิงของสภาท้องถิ่นเมืองลาห์ติคนหนึ่งสะท้อนภาพการใช้แอปฯมาราว 7 เดือน บอกเห็นข้อมูลการเดินทางของตัวเองแล้วรู้สึกอึ้งและทึ่ง พักผ่อนเดินป่าเป็นระยะทาง 15 กม. แต่ใช้รถยนต์กลับเป็นระยะทางไกลถึง 100 กม.

เข้าข่ายดีต่อใจ (ตัวเอง) แต่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

ส่วนเรื่องการทับซ้อนความเป็นส่วนตัว แอปฯบันทึกข้อมูลการเดินทางทั้งหมด จนท.หญิงคนเดิมกล่าวว่า “คิดว่าทุกแอปฯที่ใช้อยู่ต่างเก็บข้อมูลบางอย่างของผู้ใช้ไปอยู่แล้ว จึงไม่กังวลต่อซิตี้แคปมากนัก”

ข้อห่วงใยนี้ ฮุตตูเนนบอกว่า แอปฯถูกระเบียบด้านข้อมูลของอียู องค์กรภายนอกไม่เกี่ยวข้องจะมาใช้ข้อมูลไม่ได้ ในอนาคตจะหาทางช่วยคนจัดการการปล่อยก๊าซ CO2 ที่เกี่ยวกับอาหารและการบริโภคอื่นๆต่อไป

...

เป็นหัวข้อห่วงใยที่โลกในยุคข้อมูลข่าวสาร เรื่องความเป็นส่วนตัว ไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป โดยมีความเป็นส่วนรวมเข้ามาแทนที่ ขณะที่ในส่วนของแผนพัฒนาสีเขียวถือเป็นโลโก้ประจำตัวของกลุ่มประเทศอียูที่รู้กันดี ไม่ว่าจะระดับส่วนกลางลงไปยันระดับส่วนล่าง

และแม้จะต้องงัดข้อกับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องทำมาหากินอยู่บ้าง แต่ถ้าหัวไม่กระดิก หางก็ไม่สั่นอยู่แล้ว.

@ฒ คอกาแฟ