เอไอเอส มาเจ้าแรก จ่ายเงิน 5 จี งวดแรกคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ พร้อมรับใบอนุญาตจาก กสทช. ทุ่มทุน 10,000 - 15,000 ล้านบาท พัฒนาเครือข่ายเป็นรายแรกของไทย ตามมาด้วยดีแทค จ่ายค่าคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ เสริมความเร็วดาวน์โหลด คาดไตรมาส 2 ปีนี้ เฉพาะพื้นที่

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 21 ก.พ. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้มาชำระค่าคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรกเป็นที่เรียบร้อย จำนวน 10% ของวงเงินชนะประมูล ส่วนที่เหลืออีก 7 งวด ชำระในปี 2567-2571 ปีละ 15% ของวงเงินประมูล หรือปีละราว 2,934 ล้าบาท โดยราคานี้ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน กสทช.จะออกใบอนุญาตให้เอไอเอส ใช้คลื่นความถี่ และใบอนุญาตตั้งเสาโทรคมนาคม เพื่อให้บริการ 5 จี โดยเอไอเอส จะมีพิธีการเปิดอย่างย่ิงใหญ่ ที่สำนักงานกสทช. เพื่อโหมโรงการเปิดให้บริการ 5 จี เป็นรายแรกของประเทศ สำหรับปีแรกจะต้องลงทุนขยายเครือข่าย 5 จี ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 50% ของพื้นที่ และ 4 ปี จะต้องลงทุนขยายเครือข่าย 5 จี ให้ครอบคลุมพื้นที่สมาร์ทซิตี้ 50% ส่วนคลื่น 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ และคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะนำเงินมาชำระเมื่อใด โดยเอไอเอส ชนะประมูลครั้งนี้ 3 คลื่นความถี่ วงเงินรวม 42,000 ล้านบาท

...

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ระบุ ในปี 2563 เตรียมเม็ดเงินลงทุนขยายเครือข่ายเพื่อให้บริการ ไว้เบื้องต้นที่ 10,000-15,000 ล้านบาท โดยได้นำเช็คเงินสดจำนวน 2,093 ล้านบาท มาชำระเงินค่าประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรก จากราคาประมูลทั้งหมด 20,930.27 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมด้วยหนังสือค้ำประกัน โดยมีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับมอบ

สำหรับการเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้บริการ 5G เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ ดังนี้ คลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ชุด (2 x 5 เมกะเฮิรตซ์) รวม 10 เมกะเฮิรตซ์ ช่วงความถี่วิทยุ 733 - 738 เมกะเฮิรตซ์ และ 788 - 793 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 10 ชุด รวม 100 เมกะเฮิรตซ์ ช่วงความถี่วิทยุ 2500 - 2600 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 12 ชุด รวม 1200 เมกะเฮิรตซ์ ช่วงความถี่วิทยุ 25.2 - 26.4 กิกะเฮิรตซ์ ส่งผลให้เอไอเอสยืนหยัดผู้นำเครือข่ายอันดับ 1 ของประเทศที่ถือครองคลื่นความถี่ในการให้บริการ 4G และ 5G มากที่สุดในอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 1420 เมกะเฮิรตซ์ (ไม่รวมความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์) พร้อมประกาศเดินหน้าพัฒนาเครือข่าย 5G ที่ดีที่สุดทั่วประเทศ เป็นรายแรก เพื่อคนไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค นำทีมโดยนายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค พร้อมทีมผู้บริหาร ได้นำเช็คเงินสดจำนวน 974.128 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม มาชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ให้กับกสทช. โดยยังไม่ได้รับแจ้งจากกสทช.อย่างเป็นทางการว่าจะรับใบอนุญาตเมื่อใด

นายชารัด กล่าวว่า ดีแทค นำเงินมาชำระให้ กสทช.เต็มจำนวน ตามเงื่อนไขการประมูล โดยจะนำคลื่นดังกล่าวไปให้บริการ 5 จี โดยไตรมาส 2 ปีนี้ จะเปิดให้บริการ 5 จี เฉพาะพื้นที่ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเลือกพื้นที่เพื่อติดตั้งอุปกรณ์โครงข่าย โดยคลื่นดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลให้กับลูกค้าดีแทค

“ดีแทคมั่นใจที่จะเปิดบริการ 5G ในพื้นที่ที่กำหนดเปิดให้บริการในช่วงแรก คาดว่าจะเปิดให้บริการราวไตรมาส 2 ปี 2563 พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายปัจจุบันให้รับส่งข้อมูลดีขึ้นถึง 3 เท่า ดีแทคจะพัฒนาโครงข่ายปัจจุบัน ด้วยการเร่งขยาย Massive MIMO เทคโนโลยีความเร็วสูงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ใช้งานหนาแน่นทั่วประเทศ และขยายโครงข่ายเพื่อให้บริการเพิ่มอีก 3,400 สถานีฐานสำหรับการใช้งาน 4G คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ ที่ให้บริการบนคลื่นทีโอที“