ได้มีโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศเมียนมา หรือในชื่อทางการว่า “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” ในรอบ 1 ปีเศษๆ ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิทัศน์สื่ออย่างน่าสนใจและน่าจะนำมาเป็นกรณีศึกษาอย่างยิ่ง

นั่นเพราะประเทศเมียนมามีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยทั้งในด้านประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ โดยในด้านประวัติศาสตร์รัฐต่างๆ ของไทยและเมียนมาในอดีต มีทั้งการสู้รบและเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน ส่วนในทางภูมิศาสตร์ประเทศไทยและเมียนมามีชายแดนติดต่อกันยาวถึง 2,401 กิโลเมตรและมีด่านสากลที่สามารถค้าขายกันได้ถึง 4 แห่ง ขณะที่ยังมีด่านธรรมชาติที่ประชาชนทั้ง 2 ประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันอีกนับไม่ถ้วน

ทั้งนี้ ยังไม่นับแรงงานชาวเมียนมาที่มาอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทยด้วยตัวเลขอย่างเป็นทางการอีกเกือบ 2 ล้านคน แต่ถ้านับแบบที่เข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมายด้วยก็น่าจะรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน

ประเทศเมียนมาปกครองด้วยระบบเผด็จการทหารมาตั้งแต่ปี 2505 และใช้นโยบายปิดประเทศมาตลอด ประชาชนถูกปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักคิด นักเขียนจำนวนมากถูกจองจำเป็นเวลานับสิบๆ ปี หลายคนต้องเสียชีวิตในคุก

...

สื่อมวลชนหลักทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์เป็นของรัฐทั้งหมด สื่อของเอกชนที่แม้จะนำเสนอแค่ข่าวกีฬาและบันเทิงต้องถูกคุมด้านเนื้อหาอย่างเข้มงวดด้วยมาตรการเซนเซอร์ก่อนการตีพิมพ์

นักข่าว นักหนังสือพิมพ์และแกนนำนักศึกษาที่เคยต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยแต่ถูกคุกคามปราบปรามจนต้องหนีไปอยู่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยได้ก่อตั้งสื่อเพื่อนำเสนอข่าวสารความเป็นไปของประเทศเมียนมาจากนอกประเทศ อาทิ สำนักข่าว Mizzima นิตยสารอิระวดี และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม Democratic Voice of Burma (DVB)

แต่หลังจากที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้มาตรการกดดันต่างๆ ต่อรัฐบาลทหารเมียนมาทำให้ในที่สุดฝ่ายทหารต้องยินยอมให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยโดยร่างรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ผ่านการลงประชามติของชาวเมียนมาท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของเรียกร้องประชาธิปไตย

ดังนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 พรรคสันนิบาตประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือพรรคเอ็นแอลดีที่มีนางออง ซาน ซูจีเป็นแกนนำจึงประกาศไม่ยอมเข้าร่วมในการเลือกตั้งดังกล่าวเพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งซ่อมปี 2555 พรรคเอ็นแอลดีส่งผู้สมัครของพรรคเข้าร่วมในการเลือกตั้งและชนะเลือกตั้งในเกือบทุกเขตที่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันการเข้าร่วมการเลือกตั้งของพรรคเอ็นแอลดี น่าจะมาจากกรณีที่นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารได้แสดงถึงความพยายามที่จะปฏิรูปประชาธิปไตยด้วยการปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และนักโทษการเมืองจำนวนมาก รวมถึงการเปิดให้สื่อมวลชนสามารถนำเสนอข่าวสารได้โดยปราศจากการเซนเซอร์เช่นในอดีต

จนกระทั่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2558 พรรคเอ็นแอลดีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและสภาเชื้อชาติ แต่ด้วยรัฐธรรมนูญปี 2551 ยังคงให้อำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุดสามารถแต่งตั้งนายทหารเข้ามาเป็นสมาชิกของทั้ง 2 สภาได้ถึง 25% ของจำนวนสมาชิกในแต่ละสภา

ในขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคเอ็นแอลดีเป็นแกนนำ ต้องจำใจยอมให้ฝ่ายทหารแต่งตั้งคนของตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกิจการชายแดน ทั้งนี้ เป็นไปตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

...

หลังจากที่พรรคเอ็นแอลดีเข้ามาบริหารประเทศ ได้มีการผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายสื่อมวลชนฉบับเก่าที่ใช้ในการจำกัดเสรีภาพของสื่อมาช้านาน และมีกฎหมายสื่อมวลชนฉบับใหม่เข้ามาแทนที่ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ยังคงมีกฎหมายที่ถูกนำมาใช้จำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนอีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายอาญาว่าด้วยหมิ่นประมาท กฎหมายโทรคมและการสื่อสาร รวมถึงกฎหมายว่าด้วยความลับของทางราชการ เป็นต้น

ระหว่างปี 2555-2558 สื่อมวลชนในเมียนมามีพัฒนาการและการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภาคเอกชนสามารถออกหนังสือพิมพ์รายวันและขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ได้ แต่ก็มาพร้อมกับพัฒนาการของกิจการโทรคมนาคมที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ทำให้สังคมเมียนมาที่เป็นสังคมข่าวลือมาเกือบ 50 ปีและกำลังจะเข้าสู่สังคมที่สื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารใหม่ แต่ในขณะที่สื่อมวลชนเมียนมายังไม่มีความแข็งแรงทั้งด้านวิชาชีพและธุรกิจ Social Media ได้เข้ามามีบทบาทแทนที่สื่อมวลชนได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน สื่อมวลชนหลักอย่างหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ของเอกชนประสบปัญหาทางด้านความนิยมและธุรกิจ อันเนื่องมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Social Media ทำให้ทุกสื่อต้องอาศัย Facebook เป็นช่องทางหลักในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพียงช่องทางเดียว

...

นอกจากนี้ Facebook ยังเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชาวเมียนมา เพราะนอกจากจะเป็นช่องทางหลักในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังเป็นช่องทางในการค้นหาข้อมูลต่างๆ ทดแทน Web Browser และชมรายการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ รวมทั้งการซื้อขายสินค้าออนไลน์อีกด้วย

สถานการณ์ที่ต้องพึ่งพา Facebook เช่นนี้ ยังนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะการใช้เป็นเครื่องมือในการปล่อยข่าวลวง ข่าวปลอม อีกทั้งใช้ในการยุยงปลุกปั่นให้มีการเกลียดชังกันระหว่างเชื้อชาติจนนำไปสู่ความรุนแรง

การพึ่งพา Social Media เพียงอย่างเดียวและ platform เดียว จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวลของสังคมเมียนมาที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันสร้างความตระหนักรู้ต่อการใช้ Social Media อย่างทั่วถึง เพราะสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมเมียนมาเองในระยะยาว...

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong