ในยุคสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตและ Social Media เรื่องราวข่าวสารที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ล้วนมีแหล่งที่มาจากสื่อมวลชนทั้งสิ้น ยุคแรกๆ ก็มีแค่หนังสือพิมพ์ ต่อมาจึงเริ่มมีวิทยุและโทรทัศน์ตามลำดับ สื่อมวลชนจึงมีบทบาทอย่างมากในการ “กำหนดวาระข่าวสาร” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Agenda Setting โดยการกำหนดวาระข่าวสารก็คือ การกำหนดว่า ข่าวสารเรื่องใดที่สังคมหรือสาธารณะควรจะรับรู้หรือใส่ใจ ซึ่งมีความแตกต่างจากข่าวสารที่เป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นเอง เช่น อุบัติเหตุต่างๆ

ความสามารถในการกำหนดวาระข่าวสารนี่เองที่ทำให้สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในทุกสังคม เช่น ในประเทศไทย ถึงขนาดมีความเชื่อกันว่า สื่อมวลชน (โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์) สามารถล้มหรือเปลี่ยนรัฐบาลได้เลยทีเดียว ตัวอย่างในอดีตที่เชื่อว่า หนังสือพิมพ์สามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้ก็คือ กรณีเหตุการณ์ความไม่ชอบมาพากลในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายปฏิรูปที่ดินปีละ 1 ล้านไร่ของรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำนักข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับไปรายงานข่าวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการเป็นประธานในพิธีแจกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับสิทธิตามนโยบายดังกล่าวที่จังหวัดภูเก็ต แต่สังเกตว่าในรายชื่อประชาชนที่ได้รับเอกสารสิทธิในวันนั้น มีบุคคลที่ใช้นามสกุลเดียวกับมหาเศรษฐีตระกูลใหญ่ๆ ในจังหวัดภูเก็ตรวมอยู่ด้วย

วันรุ่งขึ้น เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และจากวันนั้นเป็นต้นมา หนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็นำเสนอข่าวความไม่ปกติในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสมัยนั้นรวบรวมข้อมูลที่หนังสือพิมพ์นำเสนอไปใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ

...

ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลบางพรรคตัดสินใจถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลจนทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ต้องกลายไปเป็นฝ่ายค้านแทน

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เชื่อกันว่า การสิ้นสุดของรัฐบาลเป็นผลโดยตรงจากการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ จนทำให้สังคมเชื่อว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินการตามนโยบายนั้นจริง และกลายเป็นแรงกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคต้องตัดสินใจถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลและนำไปสู่การยุบสภาฯ ในที่สุด

ใครจะเชื่อว่า ในอีก 20 ปีต่อมา ไม่ใช่เพียงแค่ว่า บทบาทและอิทธิพลของสื่อมวลชนจะลดน้อยลงเท่านั้น แต่ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะ Social Media จะทำให้ธุรกิจสื่อมวลชนต้องประสบภาวะลำบาก มีหนังสือพิมพ์จำนวนมากทั่วโลกต้องปิดตัวลง รวมทั้งมีสถานีวิทยุและโทรทัศน์อีกมากมายต้องยุติการออกอากาศ

สื่อมวลชนในปัจจุบันจึงไม่ใช่ผู้กำหนดวาระข่าวสารอีกต่อไป เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในทุกวันนี้จำนวนมากมีต้นตอมาจาก Social Media โดยสื่อมวลชนเป็นเพียงผู้นำข้อมูลข่าวสารจาก Social Media มาขยายผลและนำเสนอต่อไปอีกที

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยว่า ในปัจจุบันนี้ สื่อมวลชน กับ Social Media ใครเป็นผู้กำหนดวาระข่าวสารกันแน่ เพราะหากสื่อมวลชนไม่นำเอาข้อมูลข่าวสารใน Social media มาขยายผลและนำเสนอ ข้อมูลข่าวสารนั้น จะเป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้างหรือไม่

หรือในทางกลับกัน ข้อมูลข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอจะเป็นที่รับรู้และพูดถึงในสังคมวงกว้างหรือไม่ หากข่าวสารนั้น ไม่ถูกนำไปส่งต่อๆ กันไปใน Social Media

ดังนั้น ข้อสรุปในเบื้องต้นของข้อถกเถียงนี้ก็คือ การกำหนดวาระข่าวสารในปัจจุบัน น่าจะต้องใช้ทั้งสื่อมวลชนและ Social Media ควบคู่กันไป จะขาดเสียอย่างหนึ่งอย่างใด ย่อมไม่สามารถทำให้ข่าวสารนั้นกลายเป็นวาระของสังคมได้

แม้ว่าจะมีคนบางส่วนเชื่อว่า การกำหนดวาระข่าวสารของสังคม อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสื่อมวลชนอีกต่อไป แต่ในหลายๆเหตุการณ์ก็ยังพบว่า สื่อมวลชนยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อคนในสังคมต้องการข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ

เพราะเหตุว่าใน Social Media นั้น ใครๆ ก็สร้างข้อมูลข่าวสารได้เอง จนไม่อาจรู้ได้เลยว่า ข่าวสารนั้น เป็นเรื่องจริง หรือเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมา หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า Fake News นั่นเอง...

...

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี