หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้มีนักการเมืองในซีกรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ช่องทาง Social Media ในการสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะใน Facebook และ Twitter
เริ่มจาก “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สร้างเพจใน Facebook มาตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2561 ปัจจุบันมีผู้กดถูกใจเพจของแกแล้วกว่า 7.5 แสนบัญชี
เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการรายงานภารกิจของนายกรัฐมนตรีและความเห็นของนายกฯ ต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ล่าสุด มีการประณามผู้ก่อเหตุความรุนแรงในจังหวัดยะลา เป็นต้น และเกือบทั้งหมดเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่มีการตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็นต่อความคิดเห็นที่ประชาชนสะท้อนมาในเพจนี้ ไม่ว่าความเห็นนั้น จะเป็นการชื่นชมหรือด่าทอด้วยภาษาที่หยาบคายใดๆ ก็ตาม
ขณะที่เพจของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่สร้างมาเมื่อ 20 มีนาคม 2561 ปัจจุบันมีคนกดถูกใจเพจนี้กว่า 1.056 ล้านบัญชี กิจกรรมในเพจนี้ มีความหลากหลายกว่าเพจของลุงตู่เพราะมีการเชื่อมโยงกับเพจของพรรคอนาคตใหม่ด้วย
...
นอกจากเนื้อหาในเพจธนาธร จะเป็นการรายงานภารกิจของนายธนาธรแล้ว ยังมีช่วง #ธนาธรไลฟ์ ที่มีนายธนาธรมาพูดคุยเรื่องต่างๆ เช่น ล่าสุด มีการพูดถึงการทำงานของตนเองและทีมพรรคอนาคตใหม่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2563 รวมถึงมีการตอบคำถามของผู้ชมสดที่ถามเข้ามาอีกด้วย
ต่อมาเป็นเพจของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่สร้างมานานแล้ว (20 กันยายน 2553) แต่เพิ่งมาเคลื่อนไหวจริงจังในช่วงหลังการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลแล้ว ปัจจุบันเพจนี้ มีคนกดถูกใจแล้วประมาณ 9.8 แสนบัญชี
เนื้อหาส่วนใหญ่ในเพจนี้ เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวของนายจุรินทร์อย่างละเอียดยิบ ทั้งการไปร่วมประชุมสำคัญๆ การไปร่วมงานต่างๆ ตามภารกิจของรัฐมนตรี รวมทั้งมีการสรุปข่าวที่สำคัญจากเว็บข่าวต่างๆ ด้วย แต่ที่จะแปลกไปกว่าเพจอื่นๆ คือ การที่ตอบกลับความเห็นและคำถามของแฟนเพจที่ส่งเข้ามาเป็นระยะๆ ด้วย
แล้วก็มาถึงเพจของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รายนี้แปลกหน่อยตรงที่นอกจากจะมีหน้าแฟนเพจของตัวเองชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2561 ปัจจุบันมีคนกดถูกใจแล้วประมาณ 9.5 หมื่นบัญชีแล้ว ยังมีเพจชื่อ Like Anutin ที่ระบุว่าจัดทำโดยผู้ที่ชื่นชอบนายอนุทิน โดยมีผู้ถูกใจอีกประมาณ 4.7 หมื่นบัญชี
ทั้งสองเพจนี้ มีการโพสต์ข้อความแบบสอดรับกันโดยเพจชื่อ อนุทิน จะมีรายละเอียดของการทำงานมากกว่า พร้อมทั้งมีเกร็ดการใช้ชีวิตของนายอนุทิน เช่น การไปทานอาหารตามร้านริมทาง ซึ่งแม้จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างภาพ ก็ยังเดินหน้าทำต่อไปเพราะให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมร้านอาหารเล็กๆ ริมทางให้เป็นที่รู้จัก
ฟากของพรรคพลังประชารัฐนั้น รัฐมนตรีหลายคนก็แห่พากันเปิดแฟนเพจขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับประชาชนให้ทราบว่าตนทำงานอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สร้างเพจเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 มีผู้กดถูกใจประมาณ 1.07 แสนบัญชี
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สร้างเพจมานานแล้วตั้งแต่ปี 2555 แต่เพิ่งจะมามีความเคลื่อนไหวหลังได้เป็นรัฐมนตรี ปัจจุบันมีคนกดถูกใจประมาณ 3.67 แสนบัญชี ขณะที่นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สร้างเพจใหม่เอี่ยมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมปีนี้เอง เพิ่งมีคนถูกใจแค่ 2 พันบัญชี
...
ส่วนด้านพรรคฝ่ายค้าน เพจที่มีคนติดตามค่อนข้างมากอีกคนคือ เพจของนายวัน อยู่บำรุง ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตบางบอน/หนองแขม กทม. ที่มีสโลแกนส่วนตัวว่า “ใจถึง พึ่งได้” เพจนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2554 แต่เพิ่งมาเคลื่อนไหวในช่วงก่อนการเลือกตั้งนี้เอง ปัจจุบันมีคนถูกใจแล้วกว่า 1.35 แสนบัญชี
เพจนี้ รายงานความเคลื่อนไหวของ ส.ส.วัน อยู่บำรุง ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งมีการแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาบ้านเมืองเรื่องต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ แต่ที่น่าสนใจคือ ความเห็นของแฟนเพจส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะของการชื่นชมให้กำลังใจในการทำงาน
นอกจากใน Facebook แล้ว Twitter ยังเป็น Social Media ที่นักการเมืองนิยมใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน โดยเฉพาะแกนนำพรรคอนาคตใหม่นั้น สามารถใช้ Twitter ได้อย่างคล่องแคล่วทุกคน
...
แต่วันนี้ อยากจะยกตัวอย่างบัญชี Twitter ของนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.เขตคลองสาน บางกอกใหญ่ ธนบุรี พรรคอนาคตใหม่ สร้างบัญชีทวิตเตอร์มาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว แต่มาใช้มากขึ้นในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งและหลังจากเป็น ส.ส. ปัจจุบันมีผู้ติดตามอยู่ประมาณ 3.49 หมื่นบัญชี ส่วนใหญ่ใช้ในการรายงานกิจกรรมของตนในฐานะ ส.ส. รวมทั้งเพื่อน ส.ส.ในพรรคและประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของพรรคอนาคตใหม่
ขณะที่ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ สร้างบัญชีทวิตเตอร์มาตั้งแต่ปี 2554 และมีความเคลื่อนไหวแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านช่องทางนี้มาอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีผู้ติดตามอยู่ที่ประมาณ 3.73 หมื่นบัญชี โดยนายเทพไท นับเป็นหนึ่งในนักการเมืองไทยเพียงไม่กี่คนที่ใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางสื่อสารหลักมาโดยตลอด
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนของนักการเมืองที่นำเอา Social Media มาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับประชาชน แต่ส่วนใหญ่หากเป็นผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมือง มักจะไม่มีเวลามาใช้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยทีมงาน ซึ่งหากทีมงานไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการใช้ Social Media สำหรับการเมืองแล้ว ช่องทางนั้น ก็จะเป็นการสื่อสารทางเดียวที่เป็นประโยชน์กับเจ้าของบัญชีเพียงบางส่วนเท่านั้น
...
จนถึงขณะนี้แล้ว เรายังไม่เห็นนักการเมืองไทยที่ใช้ Social Media ในการสื่อสารกับประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งหมายถึงการสื่อสารสองทางโดยไม่เห็นว่า ประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองที่จะพาตนเองขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองเท่านั้น...
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong