เมื่อพูดถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า “พรรคอนาคตใหม่” เป็นพรรคที่มีความสำคัญและได้รับการพูดถึงมากที่สุดโดยเฉพาะใน Social Media ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า พรรคอนาคตใหม่ จะไม่สามารถเติบโตจนกลายเป็นพรรคขนาดกลางค่อนไปทางการเป็นพรรคใหญ่ได้ หากปราศจากซึ่ง Social Media

จากข้อมูลในเว็บไซต์ของพรรคอนาคตใหม่ระบุว่า พรรคก่อตั้งขึ้นโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองประธานบริหารบริษัทไทยซัมมิท และนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งอีก 24 คน ยื่นจดทะเบียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561

หลังจากนั้น เพียงปีเศษๆ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 3 รองจากพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวม 81 คน (ปัจจุบันเหลือ 80 คน) แบ่งเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 50 คน และ ส.ส.แบบแบ่งเขตอีก 31 คน โดยเป็น ส.ส.ใหม่เอี่ยม (ไม่เคยเป็น ส.ส.มาก่อน) ทั้งหมด ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เมื่อวิเคราะห์แบบหยาบๆ จะมีคำถามว่า การที่พรรคอนาคตใหม่ได้จำนวน ส.ส.มากมายขนาดนี้ มาจากปัจจัยอะไร คนส่วนใหญ่จะตอบตรงกันว่า คะแนนเสียงของพรรคอนาคตใหม่มาจากคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ New Voters หรือคนที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งมีอยู่จำนวนหลายล้านคน เพราะประเทศไทยห่างหายจากการเลือกตั้งไปถึง 5 ปี

แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกไป ก็ต้องยอมรับว่า คะแนนเสียงที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับจำนวนมากมาจากฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติ (ที่ถูกยุบไปก่อนการเลือกตั้ง) เนื่องจากในหลายพื้นที่ที่มีผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติ ในพื้นที่นั้น พรรคเพื่อไทยก็จะไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ จังหวัดแพร่ที่ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้งมาทั้ง 2 เขต

...

หรือแม้แต่พื้นที่ที่มีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยลงแข่งขันด้วย คะแนนเสียงที่คาดว่าน่าจะเลือกพรรคไทยรักษาชาติก็จะเทมาที่ผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ ทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงรวมทั้งประเทศเพิ่มมากขึ้น

กล่าวสำหรับคะแนนเสียงที่เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่ได้มาจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่นั้น ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า มาจากกระแสความนิยมใน Social Media ที่แม้ว่าบัญชีอย่างเป็นทางการของพรรคใน Facebook และ Twitter จะเพิ่งเปิดใช้งานในเดือนเมษายน 2561 ก็ตาม แต่สามารถสร้างกระแสความนิยมได้อย่างรวดเร็ว

โดยหากสังเกตให้ดีแล้วจะพบว่า บัญชี Social Media ของพรรคและของแกนนำพรรค ต่างมีการโพสต์ข้อความที่สอดรับกันอย่างเป็นระบบ ขณะที่กองเชียร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่และไม่เปิดเผยตัวตน (โดยเฉพาะใน Twitter) ต่างโพสต์ข้อความสนับสนุนพรรคและโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และกลายเป็นกระแส Viral อยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม การสรุปรวมเอาง่ายๆ ว่า “คนรุ่นใหม่” แห่มาเลือกพรรคอนาคตใหม่ “ตามกระแส” ใน Social Media เสียทั้งหมดก็คงจะเป็นการดูถูกสติปัญญาของชาว Gen Y มากเกินไป เพราะมีการศึกษาเล็กๆ จากกลุ่มนักเลือกตั้งรุ่นใหม่ พบว่า พวกเขาจำนวนมาก มีการเข้าไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในโลกอินเทอร์เน็ต ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

ข้อมูลนี้สอดรับกัน หากได้เข้าสำรวจเว็บไซต์ของพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดใหม่ในระหว่างที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะพบว่าเว็บไซต์ของพรรคอนาคตใหม่ เป็นเว็บไซต์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น ข้อมูลผู้สมัคร นโยบายพรรค และข่าวสารการรณรงค์หาเสียงของพรรค ฯลฯ ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองอื่น

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนรุ่นใหม่จะเข้าไปแสวงหาข้อมูลของพรรคการเมืองต่างๆ แล้วพบว่า พรรคอนาคตใหม่มีข้อมูลต่างๆ ครบถ้วยเพียงพอที่จะจูงใจให้คนรุ่นใหม่ไปลงคะแนนเสียงให้กับพรรค นั่นเพราะพวกเขาไม่สามารถหาชุดข้อมูลเดียวกันจากเว็บไซต์ของพรรคการเมืองอื่นนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ แม้หลายฝ่ายจะวิพากษ์วิจารณ์ว่า กระแสความนิยมของพรรคอนาคตใหม่ลดน้อยลงโดยวัดจากการเลือกตั้งซ่อมที่เขต 5 จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ทว่าคะแนนความนิยมของพรรคอนาคตใหม่ใน Social Media ไม่ได้ตกลงมากมายอย่างที่หลายคนคิด

...

เพียงแต่ว่า ในโลกของความเป็นจริง แกนนำพรรคจะสามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพรรคอนาคตใหม่ได้ดีเพียงใด เพราะพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นและได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ในฐานะพรรคการเมืองแนวใหม่ที่ประกาศวิสัยทัศน์ของพรรคว่าจะนำพาประเทศไทยพ้นจากห้วงภาวะวิกฤติในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

นอกจากนี้ แกนนำพรรคจะสามารถรักษาและพิสูจน์วิสัยทัศน์ที่ประกาศต่อสาธารณชนไว้ว่า จะเป็นพรรคที่ไม่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของได้มากน้อยเพียงใด เพราะต้องยอมรับว่า ดีกรีหรือระดับของความต้องการที่จะเปลี่ยนสังคมไทยในกลุ่มแกนนำ ส.ส.และสมาชิก รวมถึงผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ย่อมมีความแตกต่างกัน

ที่สำคัญ หากจะยอมรับความจริงว่า “การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์” พรรคอนาคตใหม่ จะสามารถรักษาความสมดุลของผลประโยชน์ภายในพรรค และผลประโยชน์ของสาธารณะได้มากน้อยเพียงใด

ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นปัญหาที่ท้าทายแกนนำและผู้บริหารของพรรคอนาคตใหม่ เพราะกระแสความนิยมใน Social Media ไม่ใช่กระแสที่ยั่งยืน หากไม่สามารถรักษาอุดมการณ์ และสร้างความสมดุลของผลประโยชน์ทางการเมืองได้...


ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong