ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อเนื่องถึงต้นสัปดาห์นี้ มีปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก นั่นคือ การที่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) “พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ออกมาจัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” โดยเชิญบุคคลในแวดวงต่างๆ มาร่วมรับฟัง
ตามด้วยการออกมาตอบโต้อย่างทันควันของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ที่ใครฟัง ผบ.ทบ.พูดแล้ว ก็รู้ได้ทันทีว่า เนื้อหาการบรรยายพุ่งเป้าไปที่แกนนำพรรคอนาคตใหม่เป็นหลัก โดยทั้ง ผบ.ทบ.และนายปิยบุตรเอง ต่างก็ประดิษฐ์วาทกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโต้กัน โดยนายปิยบุตรจัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองประชาธิปไตย: บทบาทของประชาชนในการสร้างชาติ”
ล่าสุด อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อดีตแกนนำนิสิตนักศึกษาในยุค 14 ตุลาคม 2516 และอาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ออกมาบรรยายพิเศษเช่นกัน โดยใช้หัวข้อว่า “ประชาชน นักการเมือง ทหารไทย ติดกับดักวิกฤตใหม่ประเทศไทย” ซึ่งมาพร้อมวาทกรรมทางการเมืองใหม่ๆ เช่นเดียวกัน
...
สำหรับวาทกรรมทางการเมืองที่ ผบ.ทบ.นำออกมาบรรยายเป็นชุดๆ นั้น มีมากหมายหลายคำ เช่น คำว่า “ฮ่องเต้ซินโดรม” “ไฮบริดวอร์แฟร์” และ “ซ้ายจัดดัดจริต” เป็นต้น ขณะที่นายปิยบุตรก็ตอบโต้ด้วยคำว่า “ไฮบริดรีจีม” และอาจารย์ก็ประดิษฐ์คำใหม่ที่เรียกว่า “ความเมือง” แทนคำเรียก “การเมือง” แบบเดิม
การที่ ผบ.ทบ.ถึงขั้นต้องออกมาบรรยายพิเศษแบบที่ ผบ.ทบ.คนก่อนๆ ไม่ค่อยได้กระทำนั้น แน่นอนว่า จะต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการออกมาบรรยายโดยมีเนื้อหาวิพากษ์การกระทำของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พร้อมพลพรรคเพื่อไทย รวมทั้งการเคลื่อนไหวและจุดยืนทางการของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ย่อมเป็นการพูดถึงฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับสถาบันทหารอย่างชัดเจน
แน่นอนว่า ผบ.ทบ.เอง ก็น่าจะคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากว่า จะต้องมีปฏิกิริยาโต้กลับจากฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายค้านที่มีวาทกรรมของตัวเองที่เรียกว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ส่วนทหารหรือรัฐบาลคือ “ฝ่ายเผด็จการ” เพราะในเนื้อหาการบรรยายก็ระบุว่า ฝ่ายตรงข้ามมีการใช้ Social Media โฆษณาชวนเชื่อและสร้างสัญลักษณ์ให้เป็นที่จดจำ เป็นต้น
จากข้อมูลการสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยล่าสุดในปี 2561 โดยสำนักงานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า กลุ่มประชากร Gen Y (อายุตั้งแต่ 18-37 ปี) จะเป็นกลุ่มคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึงวันละตั้งแต่ 10 ชั่วโมง 22 นาทีไปจนถึง 11 ชั่วโมง 52 นาที ขณะที่โดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตกันวันละประมาณ 10 ชั่วโมง 5 นาที
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการสร้างวาทกรรมให้เห็นว่า ฝ่ายทหารและรัฐบาลเป็นพวกเผด็จการที่ฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของประเทศ โดยเฉพาะการตอกย้ำไปที่ความไม่เป็นธรรมในสังคมและโทษว่าปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีต้นตอมาจากรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศมายาวนานกว่า 5 ปี และยังสืบทอดอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในปัจจุบัน
จริงอยู่ที่คนรุ่นใหม่ หรือคน Gen Y จำนวนมากเป็นประชากรอินเทอร์เน็ตที่มีความกระตือรือร้น (active netizens) ในการค้นคว้าหาข้อมูล แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากหรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่เปิดรับข้อมูลด้านเดียวโดยไม่ได้ไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จึงมีแนวโน้มที่จะตามกระแส หรือ “ตามแห่” การให้ข้อมูลด้านเดียวได้โดยง่าย
...
ปฏิบัติการเช่นนี้ เรียกว่า “ปฏิบัติการสงครามข่าวสาร” หรือ IO ที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายตรงข้ามกับรัฐใช้ในการต่อสู้กันมายาวแน่ แต่ในปัจจุบัน การต่อสู้มีความเข้มข้นมากขึ้นอันเนื่องมาจากความแพร่หลายของ Social Media ดังนั้น สิ่งที่อาจารย์ธีรยุทธออกมาเตือนให้คนในสังคมมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้กระจ่าง ตั้งสติ รับฟังเหตุผลที่หลากหลาย โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของปฏิบัติการ IO ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายใด
บทเรียนในอดีตที่ผ่านมา น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจที่ต้องจดจำว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นความขัดแย้งของชนชั้นปกครองที่ต่างผลัดกันช่วงชิงพลังมวลชนที่ผ่านการปลุกระดมผ่านสื่อแบบดั้งเดิม ผสมผสานกับสื่อใหม่อย่าง Social Media มาเป็นเครื่องมือของฝ่ายตนในการกดดันฝ่ายตรงข้าม
แต่ความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ที่ใช้ Social Media เป็นเครื่องมือหลัก จะมีผลในการช่วงชิงมวลชนได้มากน้อยเพียงใด ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ อย่างไรก็ตาม หากทุกฝ่ายมุ่งใช้การต่อสู้ภายใต้กรอบของกฎหมาย
...
ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่คุมอำนาจรัฐก็ต้องพยายามพิสูจน์ว่า กระบวนการยุติธรรม หรือกระบวนการปกครองโดยกฎหมาย (Rules of Law) ยังสามารถใช้ได้อยู่ เพื่อไม่ให้ต้องเกิดการเมืองบนถนนจนทำให้ประเทศต้องหยุดชะงักและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศเกิดขึ้นอีก โดยสรุปแล้ว ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นใน Social Media ต่อการสร้างวาทกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่เหนือการคาดเดาว่าจะต้องออกมาในรูปแบบใด แต่ที่สามารถเดาได้คือ การต่อสู้กันทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ จะมีความเข้มข้นขึ้น และได้แต่หวังว่า ประชากรอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะเป็นประชากรที่ตื่นรู้และไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยง่าย
เพราะท้ายที่สุด คนที่ได้ประโยชน์จากการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นบทเรียนที่ชัดเจนแล้วว่า ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแน่นอน เพราะผลประโยชน์ทั้งหลายกลับไปอยู่กับชนชั้นนำกลุ่มน้อยที่มาเสวยอำนาจแล้วก็ไป ทิ้งภาระไว้กับประชาชนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอยู่ร่ำไป...
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong