จากความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ที่ออกมาแถลงข่าวเตือนให้ร้านกาแฟที่มีบริการฟรีไวไฟให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการต้องเก็บ Log Files หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เป็นเวลา 90 วัน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพราะเป็นการตีความอย่างกว้างว่า “ร้านกาแฟ” ก็ถือเป็น “ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต” เช่นเดียวกัน

หลังจากข่าวแพร่กระจายออกไป ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากชาวเน็ตถึงท่าทีของรัฐมนตรีดีอีเอสในครั้งนี้ เพราะการไปบังคับให้ร้านกาแฟเก็บ Log Files ของผู้ที่มาใช้บริการฟรีไวไฟของร้าน เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้แก่เจ้าของร้านกาแฟ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้บรรดาเจ้าของร้านกาแฟ (อาจจะรวมร้านอาหารต่างๆ ด้วย) ตัดสินใจยกเลิกการให้บริการนี้ และเกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการในการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

...

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด รัฐมนตรีดีอีเอสมีท่าทีที่อ่อนลงแล้วว่า ที่แถลงข่าวออกมาก่อนหน้านี้ เป็นเพียงการขอความร่วมมือในเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นที่จะบังคับใช้เป็นการทั่วไป ทั้งที่จริงๆ มีเงื่อนไขตามกฎหมายระบุไว้อยู่แล้ว

สำหรับมูลเหตุที่ทำให้รัฐมนตรีออกมาแถลงข่าวในเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ก็สืบเนื่องมาจากจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ออกมาโพสต์ข้อความที่ตำรวจระบุว่า เข้าข่ายกระทบความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งฝ่ายทางการเชื่อว่า ยังมีแกนนำกลุ่มที่มีพฤติกรรมเช่นนี้หลงเหลืออยู่และอาศัยช่องว่างจากการใช้ฟรีไวไฟในร้านกาแฟในการโพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐ

แต่การออกมาแถลงข่าวของรัฐมนตรีเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย เพราะการออกมาพูดถึงมาตรการดังกล่าว เท่ากับเป็นความพยายามเข้ามาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์มากขึ้น

ทั้งๆ ที่กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีผลบังคับใช้มาเกือบ 12 ปี แต่ก็ไม่เคยมีรัฐบาลไหนงัดเอากฎหมายมาตรานี้มาบังคับใช้กับร้านกาแฟ อีกทั้งโดยเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายก็ไม่ได้ต้องการให้มีการตีความกว้างจนครอบคลุมไปถึงการบังคับให้ร้านกาแฟต้องเก็บ Log Files ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ ในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ก่อนจะเปลี่ยนชื่อกระทรวง) เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2550 ก็ไม่เคยระบุให้ “ร้านกาแฟ” อยู่ในบัญชีของ “ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต” มาก่อนเลย

ดังนั้น หากรัฐมนตรีดีอีเอส จะนำกฎหมายมาบังคับใช้ร้านกาแฟ ก็จะเกิดปัญหาในการตีความกฎหมายอย่างแน่นอน การยอมถอยว่าเป็นเพียงการขอความร่วมมือจึงเป็นทางออกที่แม้ไม่อยากทำ ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหากปล่อยไว้อาจกระทบต่อภาพลักษณ์โดยรวมของรัฐบาลได้

คำถามที่ตามมาคือ การที่รัฐบาลออกมาดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งความพยายามที่จะเข้ามาควบคุมการให้บริการฟรีไวไฟของร้านกาแฟ จะทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ Social Media ของคนไทยจะถูกจำกัดมากขึ้นหรือไม่

...

การจะตอบคำถามนี้ เราต้องมาตั้งหลักกันก่อนว่า หากรัฐบาลต้องการที่จะเข้ามาดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ จะต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่มีอยู่ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางไซเบอร์เท่านั้น รัฐบาลจะดำเนินการทางกฎหมายตามอำเภอใจ หรือเพื่อต้องการกลั่นแกล้งใครย่อมกระทำมิได้

หากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านทางช่องทางออนไลน์ หรือ Social Media โดยไม่ไปละเมิดกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่จำเป็นจำต้องกังวลแต่อย่างใด

ในทางกลับกัน หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างระแวดระวัง ไม่ใช่เที่ยวไปจับและตั้งข้อหาผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยอิสระและบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ละเมิดกฎหมายใดๆ อย่างพร่ำเพรื่อ และต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือการทำงานของรัฐบาล ย่อมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติรองรับไว้ ตราบเท่าที่การแสดงความคิดเห็นนั้นไม่เป็นการใส่ร้ายป้ายสี หรือเจตนานำข้อมูลอันเป็นเท็จมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม ผู้แสดงความคิดเห็นย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

...

โดยสรุปแล้ว สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคนไทยผ่าน Social Media ยังมีอยู่ครบถ้วนทุกประการ และที่สำคัญคือ ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องออกมาสร้างหลักประกันในเรื่องนี้ เพื่อให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหลายเกิดความมั่นใจ รวมทั้งต้องดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

เพื่อให้แน่ใจว่า วันนี้ เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของปวงชนชาวไทยไว้อย่างชัดเจนแล้วนั่นเอง...


ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong