ในบรรดา Social Media Platform ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Twitter, Instagram, Youtube หรือแม้กระทั่ง Search Engine อย่าง Google ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเปิดให้บริการฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
แต่ภายใต้ความ “ฟรี” หรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั้น มันมีค่าใช้จ่ายแฝงที่ผู้ใช้อย่างเราต้องจ่ายอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน เอาที่ง่ายที่สุดเลยที่เราต้องจ่ายก็คือ “เวลา”
โดยเฉพาะในการชมวิดีโอต่างๆ ออนไลน์ เช่น Youtube, Line TV หรือแอปพลิเคชันสำหรับชมเนื้อหาที่เป็นวิดีโอออนไลน์อื่นๆ แบบ On Demand นั้น แม้ว่าเราจะไม่ต้องคอยชมละคร ข่าวหรือรายการบันเทิงอื่นๆ แบบมีโฆษณายาวๆ มาคั่นเหมือนกับตอนนั่งดูทีวีตอนที่ออกอากาศครั้งแรก แต่เกือบทุกคลิปก็จะมีโฆษณามาแทรกตอนต้น ตอนกลาง หรือตอนท้ายอยู่เป็นระยะๆ ทำให้เราต้องเสีย “เวลา” รอ หรือถูกบังคับให้ชมโฆษณาชิ้นนั้นประมาณ 5 วินาทีบ้าง หรือบังคับให้ชมจนจบที่ประมาณ 30 วินาทีบ้าง
...
หรือแม้แต่ใน Facebook ที่เราคุ้นเคย ทุกวันนี้ นอกจากเราจะได้เห็นความเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ หรือ friends บนหน้า feed ของ facebook แล้ว สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ feed ของ sponsor ทั้งหลายที่นับวันจะมีเข้ามามากขึ้นๆ จนเราเกือบจะไม่เห็น feed ของเพื่อนๆ เรา สักเท่าไร
ขณะที่ใน Line ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับพูดคุย สื่อสารกันยอดฮิตของคนไทย ก็มีสิ่งยั่วยวนให้เราต้องจ่ายอยู่ตลอดเวลา ทั้ง Line Pay, Line Stickers, Line Shopping ฯลฯ อันนี้ ยังไม่รวม feed ของโฆษณาจาก Sponsor ที่เริ่มเข้ามารบกวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในหน้าจอต่างๆ
แต่นอกเหนือจากเรื่อง “เวลา” ที่เราต้องจ่ายเพื่อเข้าใช้ Social Media ต่างๆ แล้ว สิ่งที่เราต้องเสียมากที่สุดคือ “ความเป็นส่วนตัว”
เพราะยังมีชาวเน็ตจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าเจ้าของ Platforms ต่างๆ นั้นได้ออกแบบวิธีการเก็บข้อมูลทั้งที่เราลงทะเบียนไว้และจากพฤติกรรมการใช้งานของเราเอาไว้อย่างละเอียดยิบ จนบางครั้งมันน่าจะรู้จักเรา ดีกว่าที่เรารู้จักตัวเองด้วยซ้ำ
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อเราเข้าไปค้นหาข้อมูลของโรงแรมในแอปพลิเคชันที่มีไว้สำหรับจองโรงแรมแอปหนึ่ง ข้อเสนอเกี่ยวกับข้อมูลโรงแรมในเมืองที่เราเข้าไปค้นหาโรงแรมก็หลั่งไหลมาหาเราใน Platforms Social Media ต่างๆ หรือแม้กระทั่งข้อมูลของสายการบินที่ให้บริการบินไปเมืองนั้นๆ ว่ามีโปรโมชั่นอะไรบ้าง
เรียกได้ว่า จากที่คิดว่าจะเข้าไปหาข้อมูลเล่นๆ พอเจอข้อมูลหลั่งไหลเข้ามายั่วยวน กลายเป็นว่า ต้องวางแผนเดินทางไปจริงๆ เพราะทนต่อการยั่วยวนไม่ไหว
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ว่า หากเราหลงเข้าไปคลิกดูรายละเอียดของโฆษณาชิ้นที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาแสดงบนหน้า feed ของเราแล้ว โฆษณาชิ้นนั้น หรือโฆษณาของสินค้าชนิดเดียวกัน ก็จะหลั่งไหลเข้ามาในหน้า feed ของเราแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์กันเลยทีเดียว
ดังนั้น ใครก็ตามที่ยังมีความคิดว่า Social Media Platforms ทั้งหลายเป็นของ “ฟรี” ที่มาให้บริการเรา ให้เราได้ติดต่อสื่อสารกับญาติๆ และเพื่อนฝูง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว น่าจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ และหันมาใช้ Social Media เหล่านี้อย่างมีสติและรู้เท่าทัน
และที่สำคัญต้องไม่ตกเป็นเหยี่อของอาชญากรที่แฝงเข้ามากับ Social Media ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งที่ทำเป็นส่วนตัวและทำเป็นขบวนการ และมีทั้งที่มีตัวตนในประเทศไทยและแก๊งอาชญากรข้ามชาติ
โดยส่วนใหญ่คนพวกนี้ จะหากินกับ “ความโลภ” ของคนที่อยากรวยทางลัดมาเป็นอันดับแรก เช่น หลอกว่าได้รางวัลโน่นนี่ ถ้าต้องการรับรางวัลให้ติดต่อกลับไป พอหลงติดต่อกลับไปก็จะบอกว่า มีค่าบริการในการจัดการรับรางวัลให้ เมื่อหลงเชื่อส่งเงินไป ก็จะหายไป ติดต่อไม่ได้อีกต่อไป
...
รองลงมาเป็นพวกที่เอา “เรื่องเพศ” มาล่อลวงให้ติดกับดักแล้วค่อยแบล็กเมล์ในภายหลัง เช่น เข้ามาขอเป็นเพื่อนแล้วชวนคุยเรื่องเซ็กซ์ ก่อนจะหลอกให้เหยื่อแก้ผ้าโชว์ ซึ่งก็จะถูกบันทึกเอาไว้ แล้วเอามาขู่ว่า หากไม่จ่ายเงินก็จะเอาไปเผยแพร่ต่อสาธารณะให้เราเสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นต้น
สุดท้ายที่โดนกันบ่อยๆ เช่นกัน ก็คือใช้ “ความกลัว” มาหลอกล่อให้ติดกับดัก เช่น แจ้งว่าเราไปสั่งซื้อของออนไลน์ในมูลค่าเท่านั้นเท่านี้ แล้วบอกว่า ถ้าไม่ได้สั่งให้กดที่ Link ที่แนบมา พอกดไปก็บอกว่าให้ใส่ User Name และ Password สมาชิกของเรา เพื่อที่จะหลอกเอา User Name และ Password รวมทั้งข้อมูลบัตรเครดิตของเราไปสั่งซื้อของมาใช้ทำให้เราเสียหาย เป็นการเสียเงิน แต่ไม่ได้ของหรือสินค้า เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงข้อเตือนใจสำหรับชาว Social Media ที่วันนี้ อาจจะยังสนุกสนานกับการ “เล่น” Social Media แบบขาดสติ ให้หันมา “ใช้” Social Media กันด้วยความระมัดระวัง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง...
...
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong