โครงการสำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม ในปี 2562 (สอวช.) พบว่า บริษัทในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S–curve) มีความต้องการบุคลากร ระหว่างปี 2562–2566 จำนวนทั้งสิ้น 107,045 ตำแหน่ง

แบ่งเป็น...อุตสาหกรรมดิจิทัล 34,505 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 29,735 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 20,153 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ 12,816 ตำแหน่ง และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ 9,836 ตำแหน่ง ตามลำดับ

ย้ำว่า “อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ที่ว่า ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ...รวมถึงอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า บุคลากรของประเทศยังมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะรองรับ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) บอกว่า การสำรวจข้อมูลข้างต้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอนาคต อันจะนําไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

“ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการศึกษาซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะ...ผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของประเทศต่อไป”

ในการจัดทํานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) จึงต้องสอดคล้องกับแพลตฟอร์มในการพัฒนา 4 ด้าน นับตั้งแต่...การพัฒนากําลังคนและสถาบันความรู้, การวิจัย... สร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม, การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

...

และ...การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์

คนแบบไหนที่ใช่...ยุคดิจิทัลครองเมือง ยุคไทยแลนด์ 4.0 เชิญติดตามได้ที่...งาน CEO Innovation Forum 2019 “Empowering the Next Gen for the Future: ขุมพลังคนรุ่นใหม่แห่งอนาคต” ที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2562 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อาคาร อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ : www.ones.or.th/ceo2019  ด่วน...ที่นั่งมีจำนวนจำกัด (ไม่มีค่าใช้จ่ายในการร่วมงาน) งานนี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Next Gen, Science, Innovation & Entrepreneurship: New Waves of the Thai Economy”

ภายในงานเปิดเวทีสัมมนาที่จะมีทั้งการแลกเปลี่ยนนโยบายและมุมมองจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สอวช. ถึงความก้าวหน้าในการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนมาให้ข้อมูลคาดการณ์ความต้องการ “กำลังคน” และทักษะ “อาชีพเกิดใหม่” นอกจากนี้...ยังมีเวทีแลกเปลี่ยนจากคนรุ่นใหม่

การเสวนาพิเศษหัวข้อ “CEO Visions : Empowering the Next Gen for the New Economy” และ “Next Gen : Drivers for New Growth of Local Economy” ที่จะเป็นเวทีที่รวบรวมคนรุ่นใหม่ที่นำศักยภาพของตนเองลงไปทำงานในพื้นที่ชุมชน อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวในชุมชน เกษตรอินทรีย์

เกริ่นนำเรียกน้ำย่อย อย่างเช่น...โอกาสและศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจกาแฟ, โอกาสและศักยภาพเด็กรุ่นใหม่ในการพัฒนาตนเองไปเป็นผู้ประกอบการต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างไร, คนรุ่นใหม่กับการทำงานวิจัยในพื้นที่, มุมมองด้านการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยส่งเสริมให้นักศึกษาก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการได้มากน้อยเพียงใด, ทิศทางการเติบโต และโอกาสของธุรกิจการท่องเที่ยวในชุมชน หรือท้องถิ่น

ย้ำว่า...สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นควบคู่สอดรับกับทิศทางนโยบายการพัฒนากำลังคนของประเทศระยะ 5 ปี ตามร่างกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2567 

ในแพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้นั้นในส่วนการพัฒนากำลังคนได้กำหนดแนวทางในการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมใน 5 แนวทาง ได้แก่

หนึ่ง...สร้างระบบผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ คร่าวๆคือ...เริ่มจากขยายผลหลักสูตรอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาที่เชื่อมโยงสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการการเรียนกับการทำงาน ผ่อนคลายข้อจำกัดด้านมาตรฐานหลักสูตร เพื่อให้หลักสูตรตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

...

ผลักดันโปรแกรมใช้ประโยชน์ผู้มีศักยภาพสูง เช่น สนับสนุนทุนวิจัยระดับหลังปริญญาเอกหรือปริญญาโทเพื่อทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ผลักดันระบบศาสตราจารย์ร่วมระหว่างสถาบัน จัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วม...ดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เข้ามาทำงานปรับปรุงมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานในสถาบันวิจัยหรือภาคเอกชน ปรับปรุงกลไกและแรงจูงใจที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบภาระงาน ขั้นตอนในการขอตำแหน่งทางวิชาการ

สอง...ผลิตกำลังคนระดับสูงรองรับ EEC สาม...ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างทักษะเพื่ออนาคต สี่...ส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

ในข้อนี้จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและทักษะพื้นฐานให้แก่เด็กและเยาวชนด้านปัญญาประดิษฐ์ผ่านหลักสูตรการศึกษาในระบบ หรือกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น การทำโครงงาน การประกวดแข่งขันนิทรรศการ ...พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้บุคลากรวัยทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิจัย วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทั้งยังต้องสร้างความสามารถให้กับผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายเอสเอ็มอีที่มีการใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตในกิจการ และแนวทางสุดท้ายก็คือ...ปฏิรูประบบการอุดมศึกษาของประเทศไทย

แนวทางหลักๆที่คิดกันไว้...กำหนดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาตาม “กลุ่มผลลัพธ์” กำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของสถาบัน กำหนดแนวทางกำกับดูแลการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษา...ปฏิรูปกลไกการเงินและงบประมาณ... ปรับเปลี่ยนมาตรฐานและคุณภาพหลักสูตรและสถาบันอุดมศึกษา

...

พัฒนามหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการและธุรกิจนวัตกรรม...ปรับระเบียบให้อาจารย์สามารถทำงานสตาร์ตอัพได้ พัฒนากลไกสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยตั้ง “วิสาหกิจเพื่อสังคม” เพื่อแก้ปัญหาให้ชุมชน

พัฒนาแนวทางแบ่งปันผลประโยชน์จากการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ศูนย์บ่มเพาะ คลังข้อมูลงานวิจัย อีกจิ๊กซอว์สำคัญ...พัฒนากลไกการเงินเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการจากมหาวิทยาลัย เช่น กองทุนสตาร์ตอัพรุ่นเยาว์ กองทุนร่วมลงทุนในมหาวิทยาลัยเพื่อลงทุนในงานวิจัยของอาจารย์

หรือนักศึกษา...สนับสนุนหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาทักษะให้กับอาจารย์และบุคลากร

สำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จด้านการพัฒนากำลังคนที่สำคัญในปี พ.ศ. 2565 คือ...มีจำนวนผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร และช่างเทคนิค เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอีอีซี 30,000 คน...มีสัดส่วนผู้จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม (STEM) คิดเป็นร้อยละ 40 ของผู้จบการศึกษาทั้งหมด

เตรียม “คนไทย” สู่ศตวรรษที่ 21 รับมือยุคการเปลี่ยนแปลงที่มีความสลับซับซ้อนยิ่งนัก คนแบบไหนที่ใช่...ยุคดิจิทัลครองเมือง “ไทยแลนด์ 4.0”.