• เมื่อมีการสูดหายใจเอา PM 2.5 เข้าไปในร่างกายเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดโรคหรืออาการต่างๆ
  • "ฝุ่นจิ๋ว" สามารถเดินทางเข้าไปสะสมในสมองได้ผ่าน 3 ช่องทาง
  • วิธีเฝ้าระวังอาการและป้องกันสุขภาพตนเองจาก "ฝุ่นพิษ PM 2.5"

ยังคงกลายเป็นวาระแห่งชาติ สำหรับปัญหา "ฝุ่นพิษ" PM 2.5 ถือเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขในประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก, ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ เพราะด้วยโมเลกุลที่เล็กมากๆ ของฝุ่น PM 2.5 เมื่อถูกสูดผ่านเข้าไปยังปอดผ่านการหายใจ และแทรกซึมเข้าไปในถุงลมเข้าสู่กระแสเลือด ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบต่างๆ ในร่างกายได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคต่างๆ

ทั้งนี้ เมื่อมีการสูดหายใจเอา PM 2.5 เข้าไปในร่างกายเป็นระยะนาน อาจก่อให้เกิดโรคหรืออาการต่างๆ ได้ เช่น ตาแห้งระคายเคืองตา, ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง, โรคทางเดินหายใจ, มะเร็งปอด, หลอดเลือดหัวใจ, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ภาวะหัวใจล้มเหลว, หลอดเลือดสมอง รวมไปถึงภาวะปริชานบกพร่อง (cognitive impairment)

...

เมื่อประชาชนทุกกลุ่มต้องเสี่ยงดำรงชีวิตท่ามกลางฝุ่นควันพิษนี้ เดิมทีเราอาจไม่ได้คิดว่า PM 2.5 จะส่งผลกระทบใดๆ ต่อสุขภาพ เพราะมีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ด้วยขนาดที่เล็กทำให้ฝุ่นจิ๋วสามารถเดินทางเข้าไปสะสมในสมองได้ผ่านอย่างน้อย 3 ช่องทาง คือ 

1. ผ่านผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง 

2. ผ่านเข้าไปในปอด เข้าไปถึงหลอดลม แล้วซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ไหลเวียนไปยังสมอง 

3. ผ่านเข้าสู่ทางเดินอาหารโดยการกลืนลมที่มีฝุ่นจิ๋วปะปนในระหว่างการพูดคุยแล้วดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด หรือไปเปลี่ยนจุลชีพและสภาวะแวดล้อมในทางเดินอาหารก่อนจะไหลเวียนไปที่สมองต่อไป

ทางด้าน นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า มีการศึกษาพบว่ามีการสะสมของอนุภาคฝุ่นจิ๋วในสมองจริง โดยเฉพาะในสมองส่วนหน้าซึ่งผ่านมาจากผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง เพราะสามารถตรวจพบอนุภาคฝุ่นจิ๋วในสมองส่วนหน้าคล้ายๆ กลุ่มโรคที่เกิดขึ้นในสมองโดยทั่วไป ไม่ว่าจะในเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโต จะพบว่าพัฒนาการของสมองช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้รับ 

นอกจากนี้ ในสมองส่วนลึกก็พบว่ามีโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันระบบประสาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แปรผันตรงกับช่วงเวลาที่มีการเพิ่มขึ้นของฝุ่นจิ๋ว โดยอธิบายได้ว่า ฝุ่นจิ๋วมีผลกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในระบบประสาทส่วนกลาง และหากผลกระทบนี้ลุกลามไปยังสมองที่ทำหน้าที่อื่นๆ ก็จะส่งผลให้การทำงานของสมองในตำแหน่งนั้นผิดปกติไป เช่น ทำให้เกิดความจำเสื่อม เป็นต้น

วิธีเฝ้าระวังอาการและป้องกันสุขภาพตนเองจาก "ฝุ่นพิษ PM 2.5"

1. ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้านแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือ AirBKK หรือ Life Dee และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด 

2. สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย หรือ หน้ากาก N95 ขณะอยู่กลางแจ้ง 

3. ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้งให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน 

4. ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ 

5. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 

...

6. สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังสามารถทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อลดความเสี่ยงในการสูด PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะในบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันฝุ่นภายนอกเข้าไปในห้อง โดยเลือกห้องที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่นต่างๆ ทำความสะอาดห้อง เก็บวัสดุที่เป็นแหล่งสะสมฝุ่นออก ปิดผนึกรอยรั่วช่องว่างต่างๆ ภายในห้อง งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มมากขึ้น เช่น การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร, จุดเทียนธูป รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดควัน และอาจเพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นในห้อง เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าว ควรมีขนาดที่เหมาะสมกับห้องอีกด้วย.