นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวการดำเนินโครงการอาหารปลอดภัยปี 2560 ว่า ปัจจุบันสังคมมีความเปลี่ยนแปลง ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน โซเดียมและน้ำตาลสูงการบริโภคผักผลไม้น้อยลง และไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรค NCDs เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ เป็นต้น

ดังนั้น การใช้ฉลากอาหารเพื่อเป็นทางเลือกในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ให้กับประชาชน จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนได้เลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้ประชาชนมีความรู้ในการเลือกบริโภคอาหารมากขึ้นและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อใช้เป็นอีกตัวช่วยในการลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และจากการจัดโครงการดังกล่าวพบว่าประชาชนมีความเข้าใจและเชื่อมั่นพร้อมที่จะเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีฉลากทางเลือกสุขภาพมากขึ้น

ด้าน น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผอ.สำนักอาหาร กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการควบคุมปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ขณะนี้อยู่ใน พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่แล้ว โดยบรรจุอยู่ในร่างกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยหากมีกฎหมายดังกล่าวออกมาแล้ว ในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆจะต้องมีความหวานไม่เกินร้อยละ 10 หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องมีการเสียภาษีเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันพบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดมีการใส่สารความหวานสูงประมาณ ร้อยละ 12-14 ซึ่งสูงกว่าในยุโรปถึง 2 เท่า เพราะในยุโรปจะอนุญาตให้ใส่ได้ ประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น และคาดว่ากฎหมายควบคุมปริมาณความหวานในผลิตภัณฑ์นั้นจะทันใช้ภายในปี 2560 นี้.

...