สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) เฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี จัดกิจกรรมพิเศษสร้างความเข้าใจความหลากหลาย พร้อมตอกย้ำบทบาทสำคัญ ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่การศึกษานานาชาติในไทย
การเติบโตของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและครอบครัวไทยให้ความสนใจส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนานาชาติมากขึ้นและถือได้ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทางสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) มีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้
โดยในปี 2567 ทางสมาคมฯ ได้เฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของการมีส่วนร่วมในการเติบโตของการศึกษานานาชาติในประเทศไทย จากจุดเริ่มต้นด้วยโรงเรียนสมาชิกเพียง 5 แห่ง จนถึงปัจจุบัน สมาคมฯ ได้เติบโตขึ้นจนมีโรงเรียนสมาชิกเกือบ 200 แห่งทั่วประเทศ โดยมีจำนวนนักเรียนกว่า 85,000 คนจากหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม เพิ่มขึ้น 24.7% นับตั้งแต่ปี 2565
...
ทั้งนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมฯ, คุณภัทรดา ยมนาค และ คุณปรัญ อินทพันธุ์ อุปนายกสมาคมฯ ถึงบทบาทสำคัญของทางสมาคมฯ
คุณอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า สมาคมฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสมาชิกทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติที่มีคุณภาพ สนับสนุนให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพระดับสากล เพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะสำหรับการเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
"ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 จะมีการฉลองครบรอบ 30 ปีของสมาคมฯ มีการจัดกิจกรรมพิเศษเชิญวิทยากรชื่อดังระดับโลกมาให้ความรู้เกี่ยวกับ DEIB ว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนในโรงเรียนรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มเพื่อน โรงเรียน และชุมชนที่เขาอยู่ เพราะเด็กมาจากหลายเชื้อชาติจึงมีวัฒนธรรมความเชื่อ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่แตกต่างกัน
ดังนั้นจึงต้องมาทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนเคารพในความแตกต่าง ซึ่งเรื่องนี้เราทำมาโดยตลอด การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อให้คนที่เข้าใจอยู่แล้ว มีความเข้าใจมากขึ้น เห็นความสำคัญมากขึ้นแล้วนำไปพัฒนาต่อ"
ความร่วมมือ ISAT กับภาครัฐ
สำหรับการมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เป็นเหมือนสะพานเชื่อมให้กับภาครัฐสื่อสารกับโรงเรียนนานาชาติ เพื่อให้แน่ใจว่าโรงเรียนสมาชิกดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คุรุสภา สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาแห่งชาติ (ONESQA) และหน่วยงานรับรองมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
การทำงานร่วมกันนี้ช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ ตลอดจนเป็นการสร้างมาตรฐานร่วมกันของโรงเรียนนานาชาติทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรองรับมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานการศึกษาต่างประเทศเพื่อประยุกต์แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายและเหมาะสมสำหรับนักเรียนในประเทศไทย
คุณอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เรายังมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งต้องขอบคุณท่านกรรมาธิการที่ให้โอกาสเข้าไปแสดงความคิดเห็นว่าคุณภาพการศึกษาควรเป็นแบบใด ซึ่งเราอยากให้มีการกระจายอำนาจลงมาที่โรงเรียนให้มากที่สุด เน้นให้การศึกษาเด็กเล็กไปจนถึงอายุ 6 ขวบ เนื่องจากช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่สมองขยาย มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก หากเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสิ่งนี้เขาก็จะโตไปเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเป็นเหมือนตัวแทนให้กับโรงเรียนนานาชาติที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เวลามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อย่างเช่น การระบาดของโควิด-19 ในเรื่องของการทำงานของครูชาวต่างชาติช่วงประกาศปิดประเทศ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมออกความเห็นเกี่ยวมาตรการป้องกันโควิดในโรงเรียน
ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ยังมุ่งมั่นพัฒนานักเรียนที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการและพร้อมที่จะเป็นพลเมืองโลก โดยเน้นการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โรงเรียนสมาชิกของ ISAT สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลูกฝังให้นักเรียนมีความคิดเชิงสร้างสรรค์ มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมให้พวกเขาตระหนักถึงบทบาทของตนเองในฐานะพลเมืองโลกที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างยั่งยืน ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเป็นผู้รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ก้าวทันเทรนด์การเปลี่ยนผ่านในยุคดิจิทัล และเป็นนักนวัตกรรมที่มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์
เมื่อถามถึงความคาดหวังของผู้ปกครองต่อโรงเรียนนานาชาติ คุณภัทราดา ยมนาค อุปนายกสมาคมฯ และผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติ เปิดเผยว่า เหตุผลที่ผู้ปกครองส่งลูกมาศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติก็คือ "ภาษา" อย่างแรกคือ ภาษาอังกฤษ ซึ่งในโรงเรียนนานาชาติจะมีภาษาอื่นให้เด็กได้เรียนด้วย ฉะนั้นเด็กจะได้ 3 ภาษา และสิ่งสำคัญคือเด็กยังได้อยู่กับครอบครัว
อีกประการคือพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเรียนแบบท่องจำ แต่อยากให้ลูกอยู่ในระบบที่สามารถคิดเอง มีความเข้าใจ แล้วก็วิเคราะห์แก้ปัญหาได้ ต่อมาคือการแข่งขัน ในการเรียนสมัยก่อนจะมีการแข่งขันตั้งแต่ก่อนเรียนอนุบาล เพื่อเข้าโรงเรียนอนุบาลที่ดี ไปจนถึงการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย โดยส่วนใหญ่พ่อแม่จะสนับสนุนให้ลูกเรียนพิเศษ แต่ในปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติได้เปิดหลักสูตรนานาชาติในมหาวิทยาลัยมากขึ้นและมีการประกันคุณภาพ ดังนั้นพ่อแม่ที่สงสารลูกเรียนพิเศษจึงเลือกส่งลูกเรียนหลักสูตรนานาชาติ รวมทั้งยังสอนให้เด็กกล้าตัดสินใจ หากตัดสินใจพลาดแล้วก็ต้องลุกขึ้นมาได้ ไม่หมดกำลังใจ สามารถแก้ไขปรับปรุงเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น
คุณปรัญ อินทพันธุ์ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ผู้ปกครองค่อนข้างคาดหวังคือ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ หรือการให้เด็กได้ค้นหาตัวเองเจอว่าชอบอะไร สนใจอะไร
"ก่อนจะสมัครเข้าโรงเรียนนานาชาติจะมีการพาทัวร์โรงเรียนก่อน ซึ่งตัวชี้วัดว่าผู้ปกครองจะตัดสินใจเลือกโรงเรียนไหนก็คือ สิ่งแวดล้อม และสิ่งที่โรงเรียนมอบให้ เช่น ห้องเรียนหลายๆ แบบเพื่อให้เด็กได้ลองฝึกหลายๆ อย่าง ห้องดนตรีที่มีมาตรฐาน กีฬาที่หลากหลาย เด็กๆ จะไม่ต้องเรียนวิชาการอย่างเดียว แต่เขาจะได้ฝึกทักษะอื่นด้วย ซึ่งเราปลูกฝังให้เขารู้จักใช้ชีวิตที่บาลานซ์ในอนาคต เป็นคนที่ครบถ้วน เมื่อถึงเวลาที่เขาออกจากอกพ่อแม่ไปใช้ชีวิตของเขาเอง เขาจะมีพื้นฐานที่ได้รับการหล่อหลอมมา พ่อแม่ก็จะสบายใจ"
การศึกษายั่งยืน
คุณภัทราดา ยมนาค กล่าวว่า การศึกษายั่งยืน หมายถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้การศึกษาเป็นตัวนำทาง หรือการที่เด็กได้ฝึกอบรมให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ยอมรับความแตกต่าง ช่วยเหลือคนอื่นได้ เมื่อโตขึ้นเขาจะได้พัฒนาตัวเองแล้วช่วยสังคมได้ ซึ่งไม่ใช่แค่เด็ก แต่รวมไปถึงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และครูที่ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
คุณปรัญ อินทพันธุ์ อุปนายกสมาคมฯ และผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เราเรียนรู้ในวันนี้ อีก 5 ปีข้างหน้าอาจจะล้าสมัยไปแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนไปค่อนข้างเร็ว ดังนั้นการจะทำให้คนหนึ่งคนสามารถมีชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และมีความรู้ติดตัวได้ คือการปลูกฝังให้เขารู้จักความเพียร ไม่ย่อท้อ มีความพยายาม และรักการเรียนรู้ และอีกสิ่งคือ การที่ครูโรงเรียนนานาชาติใฝ่รู้ พยายามทำความเข้าใจและมีเทคนิคใหม่ๆ มีวิธีการอย่างไรให้ทันกับสถานการณ์มาสอนนักเรียน
เมื่อถามว่าสิ่งใดที่โรงเรียนนานาชาติควรผลักดันเป็นอันดับแรก ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่มีทางที่มนุษย์จะสมบูรณ์ได้ ถ้าเราเน้นแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุดพัฒนา เพื่อให้คนคนหนึ่งเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีความสุข.