ทำความรู้จัก "เกลือทอง" หรือ โกลด์ไซยาไนด์ หลัง "ยู" แฟนหนุ่มอ้าง "หมอเก่ง" สั่งมากินด้วยกัน แต่ตัวเองอาเจียนหนัก ขณะที่หมอเก่ง ปวดท้องรุนแรง ก่อนเสียชีวิต ทางการแพทย์รู้จักดี เพราะใช้ลดการอักเสบ แต่หากกินมากไป อาจทำให้เสียชีวิตได้
วันที่ 16 ส.ค. 67 จากกรณี การเสียชีวิตของ หมอเก่ง นายอุดมศักดิ์ ทองม้วน อายุ 50 ปี เจ้าหน้าที่ รพ.สต.บางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ซึ่งแฟนหนุ่มได้พยายามนำตัวส่งโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ด้วยอาการปวดท้องรุนแรง ถ่ายท้อง และเริ่มไม่รู้สึกตัว แต่โรงพยาบาลสามารถช่วยจนฟื้นคืนชีพมาได้ และพักรักษาตัวอยู่ที่หอพักผู้ป่วยวิกฤติไอซียู 1 อาการค่อนข้างวิกฤติ กระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา ก่อนที่แฟนหนุ่มจะติดต่อไม่ได้ และเจ้าหน้าที่ไปติดตาม จนพบว่า นั่งรถกลับไปบ้านที่ จ.ลำพูน จึงได้มีการเชิญตัวมาสอบสวน หาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียด เนื่องจากญาติมีการสงสัยเกี่ยวกับการเสียชีวิต โดยไม่เชื่อว่า จะเสียชีวิตจากการรับประทานอาหารเท่านั้น
กระทั่งล่าสุด มีรายงานว่า พล.ต.ต.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผยหลังเชิญตัว นายยู มาให้ปากคำในฐานะพยาน โดยนายยู อ้างว่าได้มีการสั่งเกลือทอง ทางออนไลน์ ส่งมาจาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ถึงห้องพักที่นนทบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ไปเจอว่าหนีมาอยู่ด้วยกัน จนเกิดความกดดันทั้งคู่ เพราะหวังจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กันที่ลำพูน แต่ระหว่างเดินทาง ไปแวะพักที่โรงแรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หมอเก่งได้สั่งน้ำมาดื่ม ส่วนนายยูเข้าห้องน้ำ และเมื่อออกมา พบว่า มีการเทน้ำใส่แก้ว 2 ใบ โดยคาดว่า จะมีการผสมเกลือทองลงไปในแก้วน้ำด้วย
นายยู ยังอ้างด้วยว่า หมอเก่ง และตัวเอง ดื่มน้ำจนหมดแก้ว นายยู มีอาการคลื่นไส้ จนอาเจียนออกมา ขณะที่ หมอเก่ง มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง นายู ตกใจจึงรีบโทรแจ้ง 1669 เพื่อต้องการจะนำ หมอเก่ง ส่งโรงพยาบาล เพื่อช่วยชีวิต แต่สุดท้ายก็ไม่ทัน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นคำกล่าวอ้างของนายยู ซึ่งหลังจากนี้ จะต้องนำตัว นายยู ส่งไปที่กลุ่มงานพิษวิทยา สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อตรวจหาสารพิษในร่างกาย เพื่อหาสารตกค้างที่หลงเหลืออยู่
...
"เกลือทอง" คืออะไร
ในส่วนของ "เกลือทอง" นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ "อาจารย์อ๊อด" อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ม.เกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Weerachai Phutdhawong" ให้ความรู้เกี่ยวกับ "เกลือทอง" ไว้ว่า คุณหมอจะรู้จักดีครับ เกลือทอง KAu(CN)2 หรือ โกลด์ไซยาไนด์ มีฟังก์ชันในการปลดปล่อยไซยาไนด์ ปริมาณน้อย และในทางการแพทย์ใช้ในการรักษา ลดการอักเสบและชะลอการลุกลามของโรคในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แต่หากรับประทานไปในปริมาณที่มาก ไซยาไนด์ประจุลบก็จะไปบล็อกไม่ให้เซลล์รับออกซิเจน ทำให้เซลล์ตายและเสียชีวิตได้
เกลือทองยังใช้ในวงการ จิวเวลรี่ สำหรับชุบเครื่องประดับ เกลือทอง (KAu(CN)₂) หรือที่เรียกว่า โกลด์ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่ประกอบด้วย ทองคำที่ถูกซับลงในรูปแบบของไซยาไนด์ เป็นสารที่มีการใช้งานหลากหลาย ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึง วงการจิวเวลรี่และวงการแพทย์ แต่การใช้งานนั้นต้องระมัดระวังเนื่องจากมีอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
คุณสมบัติ และรายละเอียดของเกลือทอง (KAu(CN)₂)
1. คุณสมบัติทางเคมี:
• เป็นสารประกอบที่เกิดจากการรวมตัวของทองคำ (Au) กับไซยาไนด์ (CN) โดยมีโครงสร้างโมเลกุลที่เสถียร
• มีลักษณะเป็นผงสีขาวหรือสีเหลืองจางๆ
• สามารถละลายในน้ำได้ดี ซึ่งทำให้สามารถใช้ในกระบวนการชุบเครื่องประดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การใช้งาน:
• ในอุตสาหกรรมจิวเวลรี่: ใช้เป็นสารสำหรับการชุบทอง (gold plating) บนเครื่องประดับ เพื่อเพิ่มความเงางาม และคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์
• ในทางการแพทย์: ใช้ในปริมาณที่ควบคุมเพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) เนื่องจากมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและชะลอการลุกลามของโรค
อันตรายจากการใช้เกลือทอง (KAu(CN)₂)
1. ความเป็นพิษของไซยาไนด์:
• ไซยาไนด์ (CN⁻) เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง หากรับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก ไซยาไนด์จะไปบล็อกการทำงานของเอนไซม์ cytochrome c oxidase ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการหายใจของเซลล์ ทำให้เซลล์ไม่สามารถใช้ออกซิเจนได้ ส่งผลให้เซลล์ตาย และหากเกิดขึ้นในระดับสูงอาจทำให้เสียชีวิตได้
• ความเป็นพิษจากไซยาไนด์อาจเกิดขึ้นได้จากการสูดดม สัมผัสทางผิวหนัง หรือการกลืนกิน
2. อันตรายในการใช้งาน:
• ในอุตสาหกรรมการชุบเครื่องประดับ การใช้งานเกลือทองจำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เนื่องจากสารนี้สามารถทำให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
• ในวงการแพทย์ การใช้เกลือทองต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากหากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดพิษและอันตรายต่อผู้ป่วยได้
ข้อควรระวังในการใช้เกลือทอง
• การจัดเก็บ: ต้องจัดเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เก็บในที่แห้งและเย็น ห่างจากความชื้นและสารเคมีที่ทำปฏิกิริยารุนแรง
• การใช้งาน: ผู้ใช้งานควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ หน้ากาก และแว่นตา เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารโดยตรง
• การกำจัด: ต้องมีวิธีการกำจัดที่ถูกต้อง เนื่องจากไซยาไนด์เป็นสารพิษที่สามารถปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้
การใช้เกลือทองมีทั้งประโยชน์และอันตรายที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการใช้งานในด้านการแพทย์ และอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong