เพจดังตั้งคำถาม "ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท" คนจ่ายภาษีเยอะ ก็ควรได้สวัสดิการเหมือนคนอื่นหรือไม่ โซเชียลแชร์ความเห็นเพียบ

เรียกว่าเป็นกระแสมาตลอด สำหรับโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท" ซึ่งรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่จะเข้าโครงการรับเงิน 10,000 บาท เพื่อใช้จ่ายผ่านแอปฯ ทางรัฐได้นั้น ต้องมีเงื่อนไขดังนี้

คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
  • สัญชาติไทย
  • อายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)
  • ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
  • ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 รวมกันเกิน 500,000 บาท โดยเป็นการตรวจสอบเงินฝาก จำนวน 6 ประเภท ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน, เงินฝากออมทรัพย์, เงินฝากประจำ, บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน
  • ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ 1-5 โดยเงินฝากให้หมายถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม

...

ขณะที่เฟซบุ๊กเพจอย่าง "อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก" ตั้งคำถามว่า "ดิจิทัลวอลเล็ต ควรแจกอย่างทั่วถึง เสมอภาคนะ ต่อให้รายได้เกิน 840,000 ก็แปลว่าเค้าจ่ายภาษีเยอะ เค้าก็ควรได้อะไรตอบแทนบ้างที่เป็นสวัสดิการเหมือนคนอื่น คนจ่ายภาษีเยอะ อดได้ ใช่เหรอ" และว่า "คนที่เขาตั้งใจทำมาหากินจ่ายภาษีถูกต้อง คนที่เค้าเก็บออมจะมีเงินฝากก็ไม่ได้หรอ"

ซึ่งหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไป ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก อาทิ จริงนะ ควรได้ทุกคน ไม่ต้องลงทะเบียนมีบัตรได้หมด ทำอะไรให้มันยุ่งยาก, หงุดหงิดมากกกกกกกกกกก คนที่ตั้งใจทำงานเก็บเงิน ไม่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการนี้หรอ โคตรจะไม่เท่าเทียม, อยู่ในคนจ่ายภาษี ปีละมากๆ แต่พอมีไรแบบนี้ กลับไม่ได้, คนมีรายได้เยอะ ไม่ได้แปลว่าเค้าเหลือเก็บเยอะนะ แต่เค้ามีรายได้เยอะเพราะมีภาระค่าใช้จ่ายเยอะจ้า, คนขยันทำมาหากินรับบทเดิมตลอดแหละค่ะ ฯลฯ

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้วันไหน?

อย่างไรก็ตาม ระบบจะประกาศผู้ที่ได้รับสิทธิ์ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พร้อมกันในวันที่ 22 ก.ย. 67 ผ่านแอปฯ ทางรัฐ และจะเริ่มใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567 หรือช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 โดยสามารถติดตามการกำหนดวันจ่ายเงินและความคืบหน้าต่างๆ ได้ที่ เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

ที่มาจาก เฟซบุ๊กเพจ อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก