จุฬาฯ เปิดวิชาออนไลน์ Beautiful Death เข้าใจชีวิตผ่านมุมมองการตายอย่างมีคุณภาพ คอร์สใหม่จาก Chula MOOC พาผู้เรียนไปตีสนิทกับความตาย เป็นประโยชน์ต่อ "คนเป็น"
เพราะถึงที่สุดแล้วคนเราก็หนีการตายไม่พ้น ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่องการตาย การจัดการอารมณ์ของผู้ที่อยู่ในภาวะใกล้ตาย การจัดการอารมณ์ของผู้ที่ต้องสูญเสียจึงเป็นเรื่องจำเป็น
"การตายอย่างมีคุณภาพ" (Beautiful Death) วิชาออนไลน์ล่าสุดจาก Chula MOOC จึงเป็นวิชาที่น่าสนใจ ซึ่งจะพาผู้เรียนไปตีสนิทกับความตาย โดยเฉพาะความหมายของ "การตายดี" หรือตายอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ "คนเป็น" ที่จะได้รับรู้คุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่
วิชานี้ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 พอถึงปี 2560 จึงได้เปิดเป็น "วิชาการศึกษาทั่วไป" (GenEd) และด้วยกระแสความสนใจอย่างล้นหลามและต่อเนื่องจากผู้เรียน ปัจจุบันจึงได้เปิดเป็นคอร์สออนไลน์ทาง Chula MOOC เพื่อให้ผู้สนใจทั่วไปได้ร่วมเรียนรู้ด้วย
"การตาย" ในทัศนะของคนยุคนี้
"เรามีชีวิตอยู่ไปทำไม?" คำถามง่ายๆ แต่กลับหาคำตอบได้ยากเย็น โดยเฉพาะในยามที่ชีวิตกำลังถูกทดสอบจากอุปสรรคสารพัดที่ประดังเข้ามา รวมทั้งช่วงเวลานี้ วันที่ผู้คนทั่วโลกกำลังประสบเภทภัยจากการแพร่ระบาดหนักของเชื้อไวรัสโคโรน่าอย่างไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในเร็ววัน
การพลัดพรากตายจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆ นาที ขณะที่ครอบครัวนับล้านล้วนต้องก้าวผ่านการสูญเสียด้วยความเศร้าโศก ญาติสนิทมิตรสหายที่เคยเห็นหน้าต้องจากกันโดยไม่ทันร่ำลา ประสบการณ์ "การตาย" ใกล้ตัวเราเข้ามาทุกวัน ทั้งปรากฏผ่านภาพข่าวรายวันและรายงานยอดผู้เสียชีวิตจากทางการ การรับข่าวสารเช่นนี้เป็นประจำย่อมทำให้ภาพการตายถูกลดทอนเหลือเพียงข้อมูลเชิงสถิติ หรือไม่ก็ถูกตรึงความหมายกลายเป็นเพียงสภาวะชวนขนลุกกระตุ้นต่อมความกลัว
...
"โดยพื้นฐานแล้ว ความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์กลัวที่สุด" ศาสตราจารย์ ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงปฏิกิริยาของมนุษย์ต่อการตาย "ยามป่วยไข้ มนุษย์ก็จะดิ้นรนรักษา ยามประสบภัยก็จะต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ความกลัวตายเป็นอาการของมนุษย์ปกติเช่นเดียวกับสัตว์โลกอื่นๆ"
ทัศนะต่อประสบการณ์การตายกับความหมายของการมีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันถูกจำแนกแยกขาดออกจากกันเด็ดขาด ชีวิตผู้คนวันนี้เหินห่างจากการเรียนรู้เรื่องการตายจนกระทั่งภาพการตายกลายเป็นโลกคู่ตรงข้ามกับการมีชีวิต ทั้งๆ ที่ความเชื่อเดิม การตายและการมีชีวิตอยู่เป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน
"การเปิดมุมมองเรื่องความตายว่าไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์นั้น มีความสำคัญต่อการค้นหาความหมายหรือคุณค่าของการมีชีวิตอยู่" ศ.ดร.เอมอัชฌา กล่าวถึงความตั้งใจในการเปิดสอนวิชา Beautiful Death
การตายอย่างมีคุณภาพคืออะไร
ศ.ดร.เอมอัชฌา อธิบายคุณลักษณะของการตายอย่างมีคุณภาพว่าหมายถึง "การตายอย่างสมศักดิ์ศรี ตายในวัยที่เหมาะสม" หรือไม่ตายก่อนวัยอันควร
แล้วการตายอย่างสมศักดิ์ศรี ตายอย่างไร
"ขณะใกล้ตายก็ควรมีคนในครอบครัว ญาติ หรือเพื่อนสนิท คอยอยู่เคียงข้างเพื่อเป็นกำลังใจให้เราข้ามผ่านช่วงเวลาสำคัญที่สุดของชีวิต และหลังจากไปก็มีคนระลึกถึง เพราะฉะนั้น ช่วงที่เรามีชีวิตอยู่จึงสำคัญ ถ้าปรารถนาการตายอย่างมีคุณภาพ ตายอย่างสมศักดิ์ศรี เราจำเป็นต้องประพฤติตนหมั่นทำความดีเพื่อให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ระลึกถึง"
วิชาการตายดี จึงเป็นการชวนผู้เรียนร่วมค้นหาคุณค่าในตนเอง มองเห็น "คุณค่าของชีวิต" เพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ตื่นรู้ และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท รู้จักจัดการปัญหาชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสมกับบริบทแวดล้อมและเหตุปัจจัย ไม่วุ่นวายสับสนตามสถานการณ์จะพาไปจนเกิดความอลหม่านภายในใจ
การตายอย่างมีคุณภาพจึงต้องเริ่มฝึกฝนตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ หมั่นบ่มเพาะความคิดและพฤติกรรมเชิงบวก ปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อโลกและเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่พอใจหรือตรงข้าม เสมือนหางเสือเรือที่จะทำหน้าที่กำกับวิจารณญาณและทิศทางการเลือกใช้ชีวิต รวมทั้งช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ
สาระวิชาตายดี
กว่าสิบปีแล้วที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนวิชานี้ ซึ่งทุกครั้งก็จะได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนิสิตที่มาลงทะเบียนเรียนกันจนเต็มทุกที่นั่ง รวมทั้งครั้งที่เริ่มเปิดการเรียนการสอนออนไลน์บน Chula MOOC เมื่อเดือนเมษายน 2564 ซึ่งนิสิตก็แสดงความสนใจลงทะเบียนเรียนอย่างล้นหลามเช่นเดิม
ทำไมวิชา Beautiful Death จึงได้รับความสนใจมากมายเช่นนั้น
คำตอบน่าจะเป็นเพราะเนื้อหาการเรียนการสอนตั้งแต่ก่อนหน้านี้ที่ผู้สอนจะชวนนิสิตทำความรู้จักตัวเองผ่านการเขียนความรู้สึก (Journal Writing) ฝึกใคร่ครวญกับความนึกคิดของตนภายหลังรับรู้ข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน และทดลองตรวจจับอารมณ์ภายในใจ สังเกตความเมตตาที่ปรากฏ แล้วสร้างสรรค์สื่อ เช่น โปสต์การ์ด เพื่อแสดงความรู้สึกต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น
จากแบบฝึกหัดเบื้องต้นก็จะนำไปสู่บททดสอบที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อาทิ การฝึกควบคุมอารมณ์ภายในใจของผู้สูญเสีย การเตรียมตัวเผชิญความตายและความจริงของชีวิตตามลำดับขั้นตอน และปิดท้ายด้วยการสะท้อนความในใจที่ผุดขึ้นระหว่างเรียน คล้ายการสำรวจจิตใจตัวเองที่สั่นไหวไปตามข่าวสาร หรือความคิดความเชื่อที่ผ่านเข้ามากระทบภายใน
นอกจากนี้ นิสิตยังได้ชมภาพยนตร์มากมายที่เกี่ยวกับการตายในสังคมอื่น ทั้งนี้ เพื่อทำความรู้จักกับความตายในมิติวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างจากเรา เช่น สังคมชาวลาวจะไม่นิยมแต่งกายด้วยชุดดำไปร่วมงานศพ เนื่องจากไม่มีความเชื่อที่เชื่อมโยงระหว่างสีดำกับการตาย และความหมายของการตายในโลกทัศน์ของชาวลาวก็ไม่ใช่การสูญเสีย เป็นต้น
สิ่งที่ทำให้วิชา Beautiful Death การตายอย่างมีคุณภาพเป็นวิชาท็อปฮิตติดใจหลายคน ไม่ใช่เพราะเนื้อหาสาระเกี่ยวกับความตายและการตายที่หลากหลายและน่าสนใจเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่วิชานี้ได้ทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนมุมมองและชีวิตของตัวเอง
"ผู้เรียนจะได้เติบโตไปพร้อมกับการเรียนวิชานี้ เช่นเดียวกับตัวอาจารย์เอง เราจะได้เห็นคุณค่าชีวิตตนเองและผู้อื่น ตระหนักในความหมายของการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะได้ตายอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ศ.ดร.เอมอัชฌา กล่าวทิ้งท้าย.