รู้หรือไม่ ในประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 3-18 ปี กว่า 1.02 ล้านคน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา โดยจังหวัดที่มีเด็กและเยาวชนช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) หลุดจากระบบการศึกษาสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 61,609 คน ตาก 41,285 คน สมุทรสาคร 20,277 คน เชียงใหม่ 16,847 คน และสมุทรปราการ 14,349 คน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยภายใต้โครงการ "การสนับสนุน และพัฒนากลไกการขับเคลื่อนครูและเด็กนอกระบบการศึกษา" ที่ศึกษาข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษา จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 35,003 คน โดยเก็บข้อมูลจากองค์กรเครือข่าย 67 องค์กร พบว่า เด็กนอกระบบส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงสุด อยู่ในระดับชั้นมัธยมต้น 24.25% ขณะที่ 10.63% ไม่เคยได้รับการศึกษาเลย

โดยเด็กนอกระบบที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน และไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนบุคคล ส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาสูงสุดในระดับประถมต้น 30.73% ซึ่งอาชีพของผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีงานประจำ-รับจ้างรายวัน 47.11% สะท้อนถึงความไม่มั่นคงด้านรายได้ของครอบครัว อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้เด็กออกนอกระบบการศึกษา

"เด็กนอกระบบการศึกษา" คือใครบ้าง

องค์การยูเนสโกและยูนิเซฟได้ให้นิยามของคำว่า "เด็กนอกระบบการศึกษา"  หรือ เด็ก Dropout โดยแบ่งออกเป็น 5 มิติ ได้แก่

มิติที่ 1 เด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลหรือประถมศึกษา
มิติที่ 2 เด็กที่เข้าเรียนช้า หรือได้เข้าเรียนระดับประถม แต่หลุดจากระบบไป
มิติที่ 3 เด็กที่เข้าเรียนช้า หรือได้เข้าเรียนระดับมัธยมต้น แต่หลุดจากระบบไป
มิติที่ 4 เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบ ในระดับประถม
มิติที่ 5 เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบ ในระดับมัธยมต้น

เปิดสาเหตุทำ "เด็กและเยาวชนไทย" หลุดออกนอกระบบการศึกษา 

...

สำหรับสาเหตุของการออกนอกระบบการศึกษา ในงานวิจัยเดียวกันที่กล่าวข้างต้นนั้น ได้จัดอันดับไว้ดังนี้ 

  • มาจากความยากจน 46.70%
  • ปัญหาครอบครัว 16.14% 
  • ออกกลางคัน ถูกผลักออก 12.03% 
  • ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา 8.88% 
  • ปัญหาสุขภาพ 5.91% 
  • อยู่ในกระบวนการยุติธรรม 4.93%
  • ได้รับความรุนแรง 3.63%

ขณะเดียวกัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ศึกษาเชิงลึกในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่ถูกมองเห็น 4 กลุ่ม คือ เด็กในครัวเรือนเกษตร เด็กในกลุ่มคนจนเมือง เด็กจากครัวเรือนยากไร้ที่หาทางออกด้วยการเป็นสามเณร และ เด็กที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ข้อสรุปดังนี้

  • เด็กเยาวชนในครัวเรือนเกษตร 7.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 19.6% มีรายได้ไม่แน่นอน และไม่ถึง 3,000 ต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน กระทบต่อการศึกษาของเด็กหลายมิติ และในจำนวนนี้มีเด็กอาศัยอยู่กับผู้สูงวัย ร้อยละ 31.9 ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนและเติมเต็มความฝันเด็กได้ เกิดช่องว่างระหว่างวัย
  • มีสามเณร 73,620 รูป คิดเป็น 0.7% ถูกจำกัดการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอ จึงบวชเพื่อให้เข้าถึงอาหารและการเรียน ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยคือ ครอบครัวไม่สมบูรณ์ ไม่พร้อมดูแล
  • กลุ่มเด็กคนจนเมือง พบ เด็ก 137,704 คน คิดเป็น 12.8% ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา เนื่องจากครอบครัวมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายเกือบ 5,000 บาทต่อครัวเรือน และสมาชิกในครัวเรือน ไม่มีงานทำ สอดคล้องกับการเข้าถึงบริการทันตกรรมเพียงแค่ 7%
  • ขณะที่กลุ่มเยาวชนเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องยุติความฝันการเรียนต่อ ทั้งในและต่างประเทศ เพราะถูกดำเนินคดี และมีเยาวชนบางคนได้รับโทษสูงถึง 34 ปี กระทบค่าใช้จ่ายต่อครอบครัวที่ต้องสู้คดี และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา

Thailand Zero Dropout มาตรการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา

จากปัจจัยและปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout โดยจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่

1. มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการ และเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา

2. มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม

3. มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษา และการพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง

4. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชน ให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษา หรือเรียนรู้มีเป้าหมาย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn

โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ทุกจังหวัดจะ Kick off กระบวนการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งประเทศ ใช้ Application "Thai Zero Dropout" สนับสนุนภารกิจ สำรวจค้นหา วางแผน ช่วยเหลือ และเชื่อมโยง ส่งต่อการช่วยเหลือทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวมถึงการติดตามความก้าวหน้า

เปิดระบบคัดกรองนักเรียนยากจน "รับทุนเสมอภาค" ลดความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเรียนที่มีความเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา ในระหว่างวันที่ 8 ก.ค.-1 ส.ค. 2567 นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ได้เปิดระบบให้สถานศึกษาบันทึกข้อมูลนักเรียนกลุ่มนี้เข้ามา (นร./กสศ.01) เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือผ่านเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค ในปีการศึกษา 2567 ภาคเรียนที่ 1

โดยดำเนินงานร่วมกับหน่วยจัดการศึกษาต้นสังกัดทั่วประเทศ 6 สังกัด ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) และ ดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบ ประกอบด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เฉพาะสำนักเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เขต 11 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เฉพาะประเภทโรงเรียนการกุศล และสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีการติดตามการมาเรียน การเจริญเติบโต และการคงอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น หากชุมชน หรือหมู่บ้าน พบนักเรียนที่กำลังมีความเสี่ยงไม่ได้ไปโรงเรียน และจะหลุดจากระบบการศึกษา ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ให้แจ้งกับโรงเรียนเพื่อบันทึกข้อมูลเด็กคนดังกล่าว เข้ามาในระบบ เพื่อให้ได้รับช่วยเหลือจากทุนเสมอภาค ของ กสศ. รวมถึงได้รับการดูแลระบบ OBEC CARE ดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้เป็นรายบุคคลทันที

ทั้งนี้ สามารถติดตามและสอบสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ติดต่อที่เบอร์โทร. 0-2079-5475 กด 1 หรือ line @cctthailand