บริษัท วัชรพล จำกัด จับมือ "ม.รังสิต" ทำ MOU สร้างความร่วมมือทางวิชาการให้นักศึกษา บูรณาการความรู้กับองค์กรสื่อ ให้มีความพร้อมเข้าสู่โลกแห่งการทำงานปัจจุบัน

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุม 1-801 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต บริษัท วัชรพล จำกัด ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดการศึกษาเชิงบูรณาการความรู้กับองค์กรสื่อ เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ ให้นักศึกษาได้ฝึกคิด วางแผน การปฏิบัติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ (competency) ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) ทัศนคติ (Attitudes) และคุณลักษณะที่ตรงกับผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) ของหลักสูตร ตรงกับความต้องการของตลาดงาน ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และพร้อมเข้าสู่โลกแห่งการทำงานปัจจุบัน

โดย ผศ.ดร.ปถมาพร สุกปลั่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่า ในความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิตกับไทยรัฐกรุ๊ป มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ จากสถานประกอบการจริง ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพี่ๆ ของไทยรัฐ และนำความรู้กลับมาบูรณาการกับสิ่งที่เขาเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย

ซึ่งในปัจจุบันนี้ การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย ในชั้นเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว จะต้องมีการเรียนกับสถานประกอบการจริง เรียนแบบ Authentic Learning เพื่อให้เด็กมีความสามารถเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เรียนในชั้นเรียน ซึ่งคาดหวังว่าการส่งเด็กเข้าไปฝึกงานกับไทยรัฐ จะเป็นการติดอาวุธเพิ่มเติมให้กับเขา ให้ความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่เขาได้เรียนภาคทฤษฎี ก็ไปเพิ่มภาคปฏิบัติกับทางไทยรัฐกรุ๊ป จะทำให้เขามีความพร้อม มีโอกาสที่ดีมากกว่าการเรียน 

...

ด้าน คุณธัญปัฐณ์ เรืองจรัส ผู้อำนวยการ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล อาวุโส ได้เผยถึงทักษะสำคัญที่องค์กรขนาดใหญ่ หรือองค์กรชั้นนำ กำลังมองหาจากผู้สมัครงานว่า ในปัจจุบันนี้ องค์กรทุกองค์กร รวมถึงไทยรัฐจะมองหาคนที่มีทักษะที่มีความหลากหลาย เพราะในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างมาก จะใช้ทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งมันคงไม่เพียงพอ แต่ถ้าจะคุยให้จับต้องได้มากขึ้น ก็จะแบ่งเป็น 2 ทักษะหลักๆ คือ ฮาร์ดสกิล ทักษะที่มีความเป็นเฉพาะทาง เป็นวิชาชีพของสายอาชีพนั้นๆ เช่น อยู่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ก็ต้องมีทักษะในเรื่องของการสัมภาษณ์ หรือการทำตัวเลขค่าจ้าง เป็นต้น

แต่อีกทักษะหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก นั่นคือ ซอฟต์สกิล เป็นทักษะที่เกี่ยวกับเรื่องสังคม เกี่ยวกับด้านอารมณ์ เพราะในการทำงานจริงๆ หากเราอยู่กับคนที่จะทำเฉพาะในเรื่องของฮาร์ดสกิลอย่างเดียว ก็จะทำให้การทำงานออกมาไม่ได้เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร ถ้าพนักงาน หรือผู้มาสมัครมีซอฟต์สกิลที่ดี มีความฉลาดทางอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ มีทักษะในการแก้ปัญหาเชิงซับซ้อนได้ มีทักษะในการเจรจาต่อรอง มีทักษะการทำงานเป็นทีมได้ดี พวกนี้ต่างหากเป็นทักษะที่ต้องเสริมเข้ามา

สำหรับนักศึกษาที่อีกไม่นานก็จะต้องก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานอย่างแท้จริง เราควรพัฒนา และเตรียมตัวในเรื่องสกิลของเราให้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการเรียนรู้ทางมหาวิทยาลัยแล้ว ก็จะต้องมีเรื่องของซอฟต์สกิลเข้ามาประกอบด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นทักษะที่องค์กรชั้นนำตามหาอยู่

แน่นอนว่าการฝึกงานในองค์กรที่ใช่ ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหนทางในการเตรียมพร้อมทำงานจริง ยิ่งในองค์กรปัจจุบันเขาต้องการทั้งซอฟต์สกิล และฮาร์ดสกิลให้ทุกอย่างไปด้วยกันได้ เพื่อให้ได้ทั้งงาน และได้ทั้งคน ซึ่งทั้ง 2 ทักษะที่พูดมา ไม่ใช่แค่นักศึกษาฝึกงานเท่านั้น แต่ต้องใช้ในทุกระดับของคนที่อยู่ในระบบของการทำงานจริงๆ ตั้งแต่นักศึกษาฝึกงาน ไปจนถึงผู้บริหารในระดับสูง.