เปิดผลการศึกษา พบเด็ก-เยาวชน 7.9 ล้านคน เผชิญความยากจน หลุดระบบการศึกษา บริการสุขภาพ ขาดโอกาสทางอาชีพ แนะรัฐบาล ดูแลคุณภาพชีวิตครบทุกกลุ่ม

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนาสาธารณะ "เด็กและครอบครัวไทยที่ไม่ถูกมองเห็น: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว 2024" จัดโดย สสส. ว่า สสส. ร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ศึกษาเชิงลึกในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่ถูกมองเห็น 4 กลุ่ม คือ 1. เด็กในครัวเรือนเกษตร 2. เด็กในกลุ่มคนจนเมือง 3. เด็กจากครัวเรือนยากไร้ที่หาทางออกด้วยการเป็นสามเณร และ 4. เด็กที่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยกลุ่มที่ไม่ถูกมองเห็นทั้ง 4 กลุ่มนี้ เผชิญหลายปัญหา ทั้งความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ความยากจน ครอบครัวแหว่งกลางขาดโอกาสอยู่ร่วมกับพ่อแม่ และผลกระทบจากการเข้าร่วมแสดงออกทางการเมือง 

ทั้งนี้ ก็เพื่อสะท้อนปัญหา ข้อจำกัดการใช้ชีวิตของกลุ่มเด็กเปราะบาง โดยอยากให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจและนำรายงานฉบับนี้ไปกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะด้านสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวเปราะบาง เพื่อเพิ่มโอกาสการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดี

ด้าน นายวรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยและหัวหน้าทีมเครือข่ายวิจัยและนโยบาย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว กล่าวว่า เด็กเยาวชนในครัวเรือนเกษตร 7.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 19.6% มีรายได้ไม่แน่นอน และไม่ถึง 3,000 ต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน กระทบต่อการศึกษาของเด็กหลายมิติ เช่น ต้องลดค่ายังชีพ ลดค่าเดินทางไปเรียน และเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การศึกษา และในจำนวนนี้มีเด็กอาศัยอยู่กับผู้สูงวัย 31.9% ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนและเติมเต็มความฝันเด็กได้ เกิดช่องว่างระหว่างวัย ทำให้หลายคนหันหลังให้รั้วโรงเรียนและมองว่าการศึกษาสูงไม่ใช่เรื่องจำเป็น ส่งผลให้ถูกจำกัดการเข้าถึงอาชีพทักษะสูง 

...

นายวรดร กล่าวต่อว่า รายงานสถิติบุคลากรและศาสนสถานทางศาสนาในประเทศไทย ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบกลุ่มสามเณรมี 73,620 รูป คิดเป็น 0.7% ถูกจำกัดการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ 1. ครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอ จึงบวชเพื่อให้เข้าถึงอาหารและการเรียน 2. ครอบครัวไม่สมบูรณ์ ไม่พร้อมดูแล ทั้งนี้ โรงเรียนพระปริยัติธรรมมีข้อจำกัดทางศาสนา หลักสูตรไม่ส่งเสริมการใช้ชีวิตภายนอก อัตรากำลังครูมีไม่เพียงพอ รวมถึงได้รับงบประมาณอุดหนุนการเรียนต่ำ

นายวรดร แนะด้วยว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรดำเนินงานแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเร่งด่วน ผ่านแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้าน 1. เพิ่มรายได้ขั้นต่ำและเติมเงินอุดหนุนวัยเรียนให้เพียงพอ 2. จัดให้มีระบบรถโรงเรียน รถสาธารณะต้นทุนต่ำ 3. เพิ่มคุณภาพการศึกษาควบคู่กับการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นเพื่อให้จัดการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่ 4. สนับสนุนให้เด็กอยู่กับครอบครัวและส่งเสริมทักษะเลี้ยงดูเด็กให้ผู้ปกครองเชิงรุกเพื่อให้สามารถสนับสนุน และผลักดันให้เด็กกล้าฝัน

นายสรัช สินธุประมา นักวิจัยและหัวหน้าทีมสื่อสารสาธารณะ ศูนย์ความรู้และนโยบายเด็กและครอบครัว กล่าวว่า กลุ่มเด็กคนจนเมือง พบ เด็ก 137,704 คน คิดเป็น 12.8% ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา เนื่องจากครอบครัวมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายเกือบ 5,000 บาทต่อครัวเรือน และสมาชิกในครัวเรือนไม่มีงานทำ สอดคล้องกับการเข้าถึงบริการทันตกรรมเพียงแค่ 7% เมื่อสุขภาพช่องปากไม่ดี จะส่งผลต่อการกินอาหารและได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

ขณะที่กลุ่มเยาวชนเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องยุติความฝันการเรียนต่อทั้งในและต่างประเทศ เพราะถูกดำเนินคดี และมีเยาวชนบางคนได้รับโทษสูงถึง 34 ปี กระทบค่าใช้จ่ายต่อครอบครัวที่ต้องสู้คดี และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่จะชี้เป้านโยบายที่มุ่งอุดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาสุขภาวะ สานพลังทุกฝ่ายให้ร่วมกันออกแบบนโยบายเมืองที่เด็กทุกคนอยู่อย่างสมดุล เสมอภาค และไม่ถูกลิดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็น.