"มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี" จัดสัมมนายกระดับความสามารถทางการแข่งขันประเทศไทย พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ "ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2025"
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2567 ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดงาน Thailand Competitiveness Forum 2024 ณ Auditorium อาคาร KX Knowledge Xchange ถ.กรุงธนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับ ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2025 การยกระดับอุตสาหกรรมไทย เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งกิจกรรมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ สร้างโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวต้อนรับพร้อมให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่อไป จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มจธ. บรรยายหัวข้อ "การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนด้วย STECO’s Enterprise Mix" ซึ่งเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้เกิดการยกระดับทักษะบุคคล ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันองค์กร และยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป
...
จากนั้นเป็นการเสวนา "เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย" โดยมี รวีรัตน์ สัจจวโรดม ประธานบริหาร สายงานการเงินและกลยุทธ์ บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) วริทธิ์ กฤตผล Commercial Director บริษัท Rayong Engineering & Plant Service Co., Ltd. หรือ REPCO Nex Industrial Solutions ในเครือ SCG และวิศรุต เอื้ออานันท์ Chief Digital Mar Tech Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.รังสรรค์ เกียรติ์ภานนท์ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย พร้อมข้อคิดสำหรับองค์กรที่ต้องการเริ่มต้นสร้างหรือประยุกต์ใช้นวัตกรรมในองค์กร
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย" วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และจัดการกับความท้าทายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ประจำปี 2566 ในอันดับที่ 30 จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 33 ซึ่งในปี 2567 นี้พบว่าข้อจำกัดของภาคธุรกิจไทย อยู่ที่ความสามารถด้านผลิตภาพ ดังนั้น ความท้าทายของภาคธุรกิจไทย คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพในสินค้าหรือบริการ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะที่จำเป็นให้สามารถปฏิบัติงานได้เท่าทันเทคโนโลยีและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตภายใต้สภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน นับเป็นความโชคดีที่ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ มีฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง ตลอดจนมีรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้น
นอกจากนั้น สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย" ซึ่งเป็นการฉายภาพให้ผู้ร่วมงานได้เข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มการเปลี่ยนทางเศรษฐกิจของประเทศ ปิดท้ายด้วย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ "ยกระดับอุตสาหกรรมไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน" โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก.