กรมควบคุมโรค แนะนำ "โรงเรียน" ตรวจคัดกรองเด็กทุกเช้า ป้องกันโรคระบาดหน้าฝน ช่วงเปิดเทอม พร้อมเผยแนวทางป้องกัน

วันที่ 6 มิถุนายน 2567 แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนและเป็นช่วงเปิดเทอม เป็นช่วงที่จะมีการระบาดของโรคติดต่อในเด็กหลายโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี เป็นต้น ที่มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝน ซึ่งสถานที่เสี่ยงต่อการระบาด คือ ที่ที่มีกลุ่มคนรวมตัวทำกิจกรรม เช่น สถานศึกษา โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ โดยกองระบาดวิทยา ในปี 2566 ทั้งปี พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ จำนวน 491,391 ราย และในปีนี้ 2567 จนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ พบผู้ป่วยจำนวน 133,775 ราย และเมื่อเทียบรายงานการพบผู้ป่วยในช่วงเดือนพฤษภาคมของทั้งสองปี พบว่าปี 2566 พบผู้ป่วย 6,425 ราย ปี 2567 พบผู้ป่วย 7,478 ราย เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ เด็กแรกเกิด-4 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5-14 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี ดังนั้นเด็กและเยาวชนจึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

สำหรับโควิด-19 ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรค ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-1 มิถุนายน 2567 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 20,483 ราย และเสียชีวิต 132 ราย โดยระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1,863 ราย เสียชีวิต 6 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 738 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 316 ราย

ซึ่งส่วนใหญ่พบในสถานที่ที่มีผู้คนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ซึ่งอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้มากกว่าสถานที่อื่นๆ และเนื่องจากขณะนี้โควิด-19 เข้าสู่ระยะเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี ไม่ต่างจากโรคทางเดินหายใจอื่นๆ

...

แนะนำผู้ปกครอง หากบุตรหลานมีอาการป่วยแม้เพียงเล็กน้อย ขอให้หยุดรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายดีแล้วจึงกลับไปเรียนได้ และเด็กป่วยไม่ควรเข้าใกล้ผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบาง หากติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ อาจมีอาการหนักได้ กรมควบคุมโรค ขอเน้นย้ำมาตรการการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญในสถานศึกษาดังนี้ 

  1. เน้นให้ตรวจคัดกรองเด็ก (รวมถึงบุคลากรของ ร.ร.) ก่อนเข้าห้องเรียนทุกเช้า
  2. แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ โดยให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย และให้ผู้ปกครองนำเด็กกลับบ้านเพื่อไปรักษา 
  3. หมั่นทำความสะอาด สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ของเล่น
  4. จัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือเจลแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวยังช่วยลดโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น อาร์เอสวี โรคมือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วง และโรคตาแดง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กอีกด้วย สำหรับบุคลากรในสถานศึกษาที่ป่วย แนะนำให้แยกตัว และรีบไปพบแพทย์เช่นกัน สำหรับโรคไข้เลือดออก ที่มีการระบาดทุกปีในช่วงฤดูฝน สถานการณ์ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 30,353 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2567)

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก 5-14 ปี จำนวน 9,085 ราย รองลงมา 15-24 ปี จำนวน 6,861 ราย เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยเรียน จึงขอความร่วมมือให้ทุกสถานศึกษาเร่งสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำทุกสัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด

หากบุตรหลานมีอาการสงสัยป่วยไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีผื่น มีจุดเลือดที่ลำตัว ให้หยุดเรียน และไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล หลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง หากไข้ไม่ลดภายใน 1-2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422