• เช็กคุณสมบัติผู้ขอกู้ กยศ. รายได้ต่อครอบครัวต้องไม่เกินเท่าไร ถึงจะกู้ได้
  • เอกสารจำเป็น ประกอบการยื่นคำขอกู้ยืมเงิน กยศ. มีอะไรบ้าง

เรียกว่าช่วงนี้ นอกจาก Dek67 หลายคนจะหาที่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาแล้ว บางคนก็ต้องวางแผนในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาด้วย ซึ่งหากว่าที่นิสิต หรือนักศึกษาคนไหน กำลังวางแผนที่จะกู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาเช็กคุณสมบัติเบื้องต้นกันก่อน

คุณสมบัติผู้ขอกู้ กยศ.

กองทุนสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา ด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ใน 2 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

1. เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

  • รายได้ครอบครัว ไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี
  • ศึกษาในระดับการศึกษามัธยมปลาย / ปวช. / ปวส. / อนุปริญญาตรี / ปริญญาตรี
  • อายุในขณะที่ขอกู้ยืมเงิน เมื่อนับรวมกับระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี และเวลาผ่อนชำระอีก 15 ปี รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60 ปี
  • ทำประโยชน์ต่อสังคม / สาธารณะ

2. เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

  • ไม่จำกัดรายได้ หากประสงค์จะกู้ยืมเงินค่าครองชีพ จะต้องมีรายได้ครอบครัว ไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี
  • ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักฯ ในระดับ ปวส. / อนุปริญญาตรี / ปริญญาตรี
  • อายุไม่เกิน 30 ปี ในปีการศึกษาที่ยื่นคำขอกู้
  • ทำประโยชน์ต่อสังคม / สาธารณะ

นอกจากนี้ ยังต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • มีสัญชาติไทย
  • ศึกษาในสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนเพียงแห่งเดียวในภาคการศึกษาเดียวกัน
  • มีผลการเรียนดี
  • มีความประพฤติดี
  • ไม่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาใดมาก่อน
  • ไม่เป็นผู้ปฏิบัติงาน และรับเงินเดือน หรือค่าจ้างในหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน ในลักษณะเต็มเวลา
  • ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย
  • ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
  • ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้กับกองทุนเว้นแต่จะได้ชำระหนี้ดังกล่าวครบถ้วนแล้ว

...

กรณีที่ผู้ขอกู้ยืมรายใดเคยกู้ยืมเงินกองทุน กยศ.หรือกองทุน กรอ. มาแล้ว แต่ผิดนัดชำระหนี้ และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนฟ้องคดี และ/หรือเคยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมาแล้ว ผู้ขอกู้ยืมรายนั้นสามารถกู้ยืมเงินกองทุนต่อไป หากได้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนเสร็จสิ้นแล้ว

เช็กลิสต์เอกสารประกอบการยื่นคำขอกู้ยืมเงิน กยศ.

1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

  • ผู้กู้ยืม
  • บิดา มารดา หรือ ผู้ปกครอง
  • คู่สมรส (ถ้ามี)

2. หนังสือให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูล (ดาวน์โหลดได้จากระบบ DSL หรือเว็บไซต์ กยศ.)

  • ผู้กู้ยืม
  • บิดา มารดา หรือ ผู้ปกครอง
  • คู่สมรส (ถ้ามี)

3.เอกสารการรับรองรายได้ของครอบครัวผู้ขอกู้ยืม แบ่งเป็น 2 กรณี
3.1 กรณีมีรายได้ประจำ ใช้สลิปเงินเดือน หรือ หนังสือรับรองเงินเดือนจากหน่วยงาน
3.2 กรณีไม่มีรายได้ประจำ หรือ ไม่มีรายได้ ใช้หนังสือรับรองรายได้ของครอบครัวของผู้ขอกู้ยืม ตามแบบฟอร์ม กยศ. 102
พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ/ข้าราชการ/เอกสารอื่นใดรับรองว่าเป็นข้าราชการจากหน่วยงานที่ผู้รับรองรายได้สังกัดอยู่ โดยเจ้าของบัตร ต้องลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องด้วยตนเองเท่านั้น

การดำเนินงานระบบจัดการการให้กู้ยืมแบบดิจิทัล

1. การเตรียมการให้กู้ยืมเงิน (เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของสถานศึกษา)
2. การรายงานสถานภาพการศึกษา

  • รายงานโดยสถานศึกษา (เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของสถานศึกษา)
  • รายงานโดยผู้กู้ยืมเงิน

3. การยื่นคำขอกู้ยืมเงิน และอนุมัติคำขอกู้ยืมเงิน

  • นักเรียน / นักศึกษา ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน
  • สถานศึกษาตรวจสอบคำขอกู้ยืมเงิน
  • ระบบหรือกองทุนอนุมัติคำขอกู้ยืมเงิน

4. การจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน

  • ผู้กู้ยืมเงินบันทึกข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนลงนามสัญญากู้ยืมเงิน
  • การจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน

5. การเบิกเงินกู้ยืมรายภาคเรียน

  • สถานศึกษาบันทึกค่าเล่าเรียนฯ ตามที่ลงทะเบียนจริง
  • ผู้กู้ยืมเงินยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม

6. การลงนามกับตัวแทน (สถานศึกษา) 

  • การลงนามสัญญาและแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมแบบกระดาษ สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ ผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเปลี่ยนระดับ/ย้ายสถานศึกษา/เปลี่ยนหลักสูตร หรือสาขาวิชา
  • การลงนามแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมแบบกระดาษ สำหรับผู้กู้ยืมรายเก่าเลื่อนชั้นปี

7. การคืนเงินโดยผู้กู้ยืมเงิน

  • กรณียกเลิกสัญญากู้ยืมเงิน
  • กรณียกเลิกแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมรายภาคเรียน (แล้วแต่กรณี)

ทั้งนี้ สามารถดูคู่มือระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แบบดิจิทัล สำหรับผู้กู้ยืมเงิน โดยกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบละเอียดได้ทั้งหมด ที่นี่