อ.เฉลิมชัย โพสต์คลิปแจงกรณีข้ามไปดูพระพุทธรูปที่ลาว ชี้ไม่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์และโลหะวิทยา แค่ไปชื่นชมความงามทางพุทธศิลป์
วันที่ 18 พ.ค. 67 จากกรณีที่ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย และคณะ ได้เดินทางข้ามไปดูพระพุทธรูปที่เพิ่งขุดค้นได้ที่บ้านดอนผึ้งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่อ้างว่าเป็นลูกศิษย์นักโลหะวิทยามือหนึ่งของประเทศ ได้ออกมาโพสต์ฟันธงว่า พระพุทธรูปที่ขุดค้นพบดังกล่าวนั้นเป็นพระพุทธรูปใหม่ เพิ่งหล่อไม่นาน จนกลายเป็นกระแสในโซเซียล มีผู้มาแสดงความคิดเห็นออกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณ
ล่าสุด อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้ออกมาโพสต์คลิปผ่านเพจ แฟนพันธุ์แท้อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ชี้แจงว่า ตนข้ามไปดูพระพุทธรูปที่ขุดพบที่ สปป.ลาว มาเมื่อวาน (17 พ.ค.) ก่อนอื่นต้องขอบอกทุกคนก่อนว่า ตนไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่สามารถดูออกหรอกว่าเป็นพระยุคสมัยใด สร้างเมื่อไหร่ ตนมีความรู้น้อยมาก ไม่ได้เก่ง ส่วนเรื่องทางด้านโลหะวิทยาว่าเป็นวัสดุอะไร หล่อออกมาแล้วเป็นยังไง ปลอมหรือไม่ปลอม ก็ไม่มีความรู้อีก ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่ที่ไปดูเพราะผมรู้เรื่องเดียวคือ "ความงาม" ผมรู้ล้านเปอร์เซ็นต์แน่นอน เรื่องความงามผมเข้าใจว่าพระองค์นี้สวยเหลือเกิน จึงอยากไปดูความงาม ไม่ได้ดูเนื้อโลหะ ไม่ได้ดูประวัติศาสตร์ ผมไปดูความงาม ต่อให้พระองค์นี้สร้างเมื่อวานนี้ จะเป็นใครก็ตามที่สร้างพระองค์นี้ขึ้นมา ผมก็จะไปดู
...
อ.เฉลิมชัย กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ตนไม่สนใจประวัติศาสตร์ ไม่สนใจว่าพระจะปลอมหรือไม่ปลอม สนใจแค่เพียงความงามขององค์พระพุทธรูป และดีใจกับพี่น้องประเทศลาวที่ได้พระที่มีความสวยงามทางพุทธศิลป์
ด้านเพจ ขัตติยะบารมี ขัตติยะ ได้โพสต์ภาพพระพุทธรูปที่ขุดค้นพบได้ในวันนี้อีกหลายองค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหน้าตักประมาณ 10 นิ้ว และในจำนวนพระที่ขุดพบวันนี้ มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่มีจารึกอักษรโบราณว่า "เจ้าสินประหยาหล่อแล สกราชะได้ 866 ตัว" หมายความว่า พระพุทธรูปดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อปี จ.ศ. 866 หรือ พ.ศ. 2047 หรือ ค.ศ. 1504 ตรงกับรัชสมัยพระเมืองแก้วครองล้านนา หากนำเลขปีจุลศักราชปัจจุบัน (จ.ศ. 1387) มาลบกับปีที่สร้าง (จ.ศ. 866) เท่ากับว่าพระพุทธรูปที่ขุดพบนี้มีอายุประมาณ 521 ปี
ข้อมูลจาก แฟนพันธุ์แท้อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ขัตติยะบารมี ขัตติยะ