นอร์ทกรุงเทพ เผยผลสำรวจ เปิดเทอมใหม่ ผู้ปกครอง ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายทางการศึกษา และจ่ายค่าอุปกรณ์หลักหลายพันบาท ซ้ำกังวลบุตรหลาน ไปยุ่งเกี่ยวกับการเสพสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย กัญชา ใบกระท่อม

วันที่ 10 พ.ค. 67 ผศ. ดร. สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าแผนกวิจัย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ระหว่างวันที่ 7–8 พฤษภาคม 2567 จากจำนวน 1,110 ตัวอย่าง จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศพบว่า คนไทย ส่วนใหญ่มีบุตรหลาน/ผู้อยู่ในอุปการะ จำนวน 1 คน ร้อยละ 59.7 มีบุตรหลาน/ผู้อยู่ในอุปการะ จำนวน 2 คน ร้อยละ 33.3 มีบุตรหลาน/ผู้อยู่ในอุปการะ จำนวน 3 คน ร้อยละ 7.4 และมีบุตรหลาน/ผู้อยู่ในอุปการะ จำนวนมากกว่า 3 คนขึ้นไป ร้อยละ 1.4

เมื่อถามถึงการเตรียมเงินสำหรับซื้ออุปกรณ์การเรียนชุดนักเรียนกระเป๋ารองเท้า ฯลฯ (ไม่รวมค่าเทอม) ต่อคน เป็นเงินส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 1,000-3,000 บาท ร้อยละ 38.9 ระหว่าง 3,001-6,000 บาท ร้อยละ 30.8 ระหว่าง 6,001-9,000 บาท ร้อยละ 13.3  มากกว่า 9,000 บาท ร้อยละ 11.0 และใช้เงินน้อยกว่า 1,000 บาท ร้อยละ 3.9

ต่อข้อถาม เปิดเทอมนี้เตรียมเงินค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสำหรับบุตรหลาน/ผู้อยู่อุปการะ เพียงพอหรือไม่ ผู้ปกครองร้อยละ 58.7 ตอบว่าเพียงพอ และ ร้อยละ 41.3 บอกว่า ไม่เพียงพอ 

ขณะที่สภาวะหนี้สินของผู้ปกครอง พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่มีหนี้สินแต่อยู่ในภาวะที่สามารถชำระได้ แต่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ร้อยละ 37.5 มีหนี้สินแต่อยู่ในภาวะที่ต้องหมุนเงินโดยกู้เงินจากแหล่งอื่นมาชำระ ร้อยละ 23.6 มีหนี้สินแต่อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถชำระได้ ร้อยละ 12.4 มีหนี้สินแต่อยู่ในภาวะที่สามารถชำระได้โดยไม่กระทบการดำเนินชีวิต ร้อยละ 12.4 และไม่มีหนี้สิน มีเพียงร้อยละ 14.1

...

ส่วนแหล่งเงินสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษาของบุตร/หลาน/ผู้อยู่อุปการะ ส่วนใหญ่ใช้รายได้จากอาชีพหลัก ร้อยละ 65.0 ขอยืมเงินจากญาติ/พี่น้อง/เพื่อน/คนรู้จัก ร้อยละ 26.5 ใช้บัตรกดเงินสด/กู้เงินธนาคาร ร้อยละ 22.9 จำนำทรัพย์สิน เช่น ทอง ทีวี ฯลฯ ร้อยละ 20.4 ชำระด้วยบัตรเครดิต ผ่อนจ่าย ร้อยละ 18.7 ใช้เงินกู้นอกระบบ ร้อยละ 10.6 อื่นๆ เช่น นำของในบ้านไปขาย ร้อยละ 0.7

ต่อข้อถามความวิตกกังวลต่อการไปโรงเรียนของบุตรหลาน/ผู้อยู่อุปการะ ส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลในเรื่อง การเสพสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย ใบกระท่อม ร้อยละ 49.2 ความปลอดภัยในการเดินทาง ร้อยละ 48.8 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 44.5 การเสพสารเสพติดที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 42.7 การทะเลาะวิวาท ร้อยละ 39.1 เรื่องรักใคร่ชู้สาว ร้อยละ 20.2 อื่นๆ เช่น ปัญหาสุขภาพ การคบเพื่อน ร้อยละ 0.5 ไม่มีความวิตกกังวลเลย ร้อยละ 6.1

สำหรับนโยบายพรรคการเมืองด้านการศึกษา ที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ พบว่าส่วนใหญ่อยากให้ผลักดันนโยบาย เรียนฟรี มีรายได้ ตั้งกองทุนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ร้อยละ 56.4 โรงเรียน 2 ภาษา ทุกท้องถิ่น ร้อยละ 15.3 เพิ่มงบอาหารกลางวัน 20% มีรถรับส่ง ร้อยละ 13.5 หนึ่งแท็บเล็ตต่อเด็กหนึ่งคน และหนึ่งแท็บเล็ตต่อครูหนึ่งคนพร้อมอินเทอร์เน็ตฟรี ร้อยละ 12.4 1 อำเภอ 1 ทุน ร้อยละ 2.3