บรรยากาศสุดคึกคัก ส่องไฮไลต์ "ขบวนพาเหรดล้อการเมือง" งานฟุตบอลสานสัมพันธ์ จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 2024
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 31 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สนามศุภชลาศัย องค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ร่วมกันจัด "งานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" CU-TU Unity Football Match 2024 สำหรับการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกหลังหยุดไปนาน 4 ปี ถือเป็นการจัดงานร่วมระหว่าง 2 องค์กรนิสิตนักศึกษาของ 2 สถาบัน โดยไม่มีทางสมาคมศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบันเข้ามาร่วมจัด
นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนชื่องานจาก "ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" มาเป็นงานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ภายใต้แนวคิด "Unity to Sustainability" เพื่อสร้างเอกภาพของทั้งสองมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ก่อนหน้างานนี้จะเริ่มขึ้น ชมรมเชียร์และแปรอักษร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์เรื่องงานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 2024 โดยระบุว่า ชมรมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดงาน หรือการแปรอักษรในงานดังกล่าวแต่อย่างใด
สำหรับบรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความคึกคัก เหล่านิสิตนักศึกษาจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ส่วนศิษย์เก่านั้นเข้าร่วมเป็นจำนวนน้อย กิจกรรมเริ่มด้วยขบวนพาเหรด ประกอบด้วยขบวนการเมืองและขบวนสะท้อนสังคม การแปรอักษรรูปแบบใหม่ด้วยการใช้จอ LED ไม่มีการบังคับให้นักศึกษาขึ้นสแตนด์แปรอักษรเหมือนที่ผ่านๆ มา นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า "ขบวนแห่พระเกี้ยว" ของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจากเดิมทีจะเป็นการแห่ด้วยเสลี่ยง ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นการแห่ด้วยรถกอล์ฟที่ประดับดวงไฟแทน
ต่อมาเวลา 14.40 น. ขบวนพาเหรดของกลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถือเป็นไฮไลต์ที่สังคมภายนอกจับตามองการสะท้อนแนวคิดของคนรุ่นใหม่ต่อการเมืองและสังคมมากที่สุด ได้เคลื่อนขบวนเข้าสู่สนาม เนื้อหาปีนี้ประกอบด้วย ป้ายข้อความนำหน้าที่เขียนว่า "ล้อรถหมุนส่งขังชนคนชังชาติ ประกาศใช้กฎหมายล่าล้างผลาญ เมืองหยุดนิ่งหยุดทุกสิ่ง โดยมวลมาร ไทสราญ ใต้ศักดา อำมาตยาธิปไตย" (ประมวลภาพ "ขบวนพาเหรด" งานฟุตบอลสานสัมพันธ์ จุฬา-ธรรมศาสตร์ 2024)
...
ขบวนที่ 2 คือ กรอบรูปที่ว่างเปล่า ตามด้วยป้ายข้อความตามหลังว่า "ภาพประเทศไทยในฝันของใคร ฝันใหญ่ประชาฝันมากมายคนเท่าในศักดิ์ศรี ฝันมากมายของข้าถูกย่ำยี ฝันข้านี้ดับโดยท่านทุชนา" โดยทางกลุ่มอิสระล้อการเมืองสื่อถึงกรอบรูปนี้ว่า เป็นการชวนมองภาพประเทศไทยในฝัน ผ่านกรอบหนึ่งที่เปรียบดั่ง Viewfinder ของกล้องถ่ายรูป หากเรามองเข้าไปภายในกรอบนี้ จะเห็นถึงปัญหาของประเทศไทย ที่ไม่เป็นไปดั่งฝันที่หลายๆ คนคาดหวังเอาไว้ภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา
โดยสรุปแล้ว ภาพฝันของประเทศไทยนั้นก็ยังว่างเปล่าเหมือนกับกรอบภาพที่กลวงโบ๋ คนมีอำนาจก็ยังหวังครอบงำอำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตน ภาพฝันจึงเป็นอะไรไม่ได้มากเพียงไปกว่าการหลอกตัวเองว่าความหวังยังคงมีอยู่ โดยที่เราไม่อาจที่จะเผชิญหน้าอำนาจที่ซับซ้อน และหลอกหลอนเราด้วยข้อจำกัดที่อยุติธรรม
ขบวนที่ 3 เป็นหุ่นเบี้ยวางบนกระดานหมากรุก ซึ่งหุ่นตัวนี้มีหัวเป็นคน ใช้ชื่อขบวนว่า "เบี้ยเสดถา" โดยกลุ่มอิสระล้อการเมือง ระบุว่า ต้องการสื่อถึงเบี้ยในกระดานหมาก เป็นหมากที่มีหน้าที่ในการปกป้องขุน ซึ่งขุนเปรียบดังระบอบอภิสิทธิ์ชนที่กำลังกัดกินประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันนั้นเกิดมีการหักหน้าย้ายขั้วทางการเมือง การที่เบี้ยมีสองหน้านั้นสื่อถึงการเปลี่ยนขั้วที่หันเข้าปกป้องระบอบอภิสิทธิ์ชนอย่างเต็มรูปแบบ
ขบวนที่ 4 จุฬาฯ-มธ. นักทำลายล้าง นำด้วยศาลเจ้าจำลองใช้ชื่อว่า "ศาลเจ้าแม่ชัมดัง พร้อมมีคนแต่งกายคล้ายงิ้วนั่งในศาล มีคนสวมเสื้อสูททำท่าจะทุบศาล ส่วนหุ่นอีกตัวนั้นคือประเด็นเรื่องศาลเจ้า ทางกลุ่มอิสระล้อการเมืองแจ้งว่าผู้ที่ติดตามข่าวสารทราบดีว่าหุ่นตัวนี้นั้นหมายถึงใคร และเหตุการณ์อะไร แต่การพูดถึงคงจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย โดยหุ่นทั้งสองตัวนี้เป็นการตั้งคำถามกับทิศทางของการบริหารของสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์ แต่บกพร่องในการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นประโยชน์เพื่อการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ขบวนที่ 5 หุ่นหนอนดูน หุ่นตัวนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีแรงบันดาลใจจากเรื่อง Dune วรรณกรรมไซไฟคลาสสิกที่ประพันธ์โดย Frank Herbert ในเนื้อหาของเรื่องหนอนทรายนี้ ได้กลืนกินทุกสิ่งอย่างที่ขวางทางมัน แต่มันไม่รู้เลยว่าทุกสิ่งที่มันได้ขย้ำไปนั้นคือสิ่งที่มีใครสักคนต้องการจะทำลาย และมันได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยไม่รู้ตัว
ประเด็นที่หุ่นตัวนี้ต้องการนำเสนอนั้น จึงเป็นประเด็นของการกลืนกินของกลุ่มชนชั้นนำของสังคมโลกไม่ว่าจะดีหรือเลว เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีอำนาจควบคุมหนอนทรายแห่งความหายนะ ในปัจจุบัน ในหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับภัยสงครามที่เกิดจากการสนับสนุนของชาติมหาอำนาจ ทั้งยูเครน ปาเลสไตน์ ซูดาน ไต้หวัน เมียนมา และประเทศอื่นๆ.