UOB Please Touch ส่งต่อ "ศิลปะสัมผัสได้" เป็นปีที่ 9 มอบรองเท้าผ้าใบคู่พิเศษหนึ่งเดียวในโลก ให้เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล จ.เชียงใหม่ หวังศิลปะช่วยเติมเต็ม-พัฒนาสังคม

การมอบสิ่งของให้เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล ที่แทบจะไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เด็กน้อยหลายคนเดินเท้าเปล่า บางคนมีเพียงรองเท้าคู่เดียวสำหรับใส่ทุกกิจกรรม เด็กบางคนไม่เคยได้ใส่ชุดนักเรียน ซึ่งปกติแล้วหลายคนจะเน้นมอบสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้า ขนม อาหาร และของใช้ต่างๆ ก็อาจจะเพียงพอแล้ว

การดำเนินชีวิตที่ยากลำบากเหล่านี้อาจทำให้ "ศิลปะ" ถูกลดความสำคัญลง เพราะปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ แต่แท้จริงแล้ว "ศิลปะ" อาจจะช่วยเข้ามาเติมเต็มในสิ่งขาด เพิ่มรอยยิ้มของผู้ให้และผู้รับให้มุมปากยิ้มกว้างกว่าเดิม

เช่นเดียวกับโครงการ UOB Please Touch ของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้มอบ "กล่องศิลปะสัมผัสได้ (UOB Please Touch Art Kit)" ให้กับน้องๆ ผู้บกพร่องทางสายตาใน 11 โรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้น้องๆ เข้าถึงศิลปะได้ทุกที่ และยังมีโอกาสถ่ายทอดจินตนาการผ่านรองเท้าผ้าร่วมกับพี่ๆ อาสาสมัครยูโอบี เพื่อส่งมอบรองเท้าผ้าใบคู่พิเศษนี้ให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล

...

ล่าสุด (15 มี.ค. 67) ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้เดินทางไปมอบรองเท้ากีฬา อุปกรณ์ศิลปะ รวมไปถึงอุปกรณ์กีฬาให้กับทาง ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนางสาวธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เป็นตัวแทนส่งมอบรองเท้ากีฬาให้กับทางศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ให้กับ นายวีระ อยู่รัมย์ หรือ ครูโอ๊ต ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา สำนักงานฝาง ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา เป็นตัวแทนรับมอบรองเท้าในครั้งนี้

คุณธรรัตน โอฬารหาญกิจ
คุณธรรัตน โอฬารหาญกิจ

ทั้งนี้ นางสาวธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารยูโอบี ให้ความสำคัญกับโครงการเพื่อสังคม โดยจะเน้น 3 ด้าน คือ เยาวชน การศึกษา และศิลปะ เรามองว่าการปูพื้นฐานด้านการศึกษาให้กับเยาวชนที่เป็นอนาคตของประเทศนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่แล้ว แต่ "ศิลปะ" จะช่วยเข้ามาเติมเต็มมากขึ้น

"ศิลปะ" สำหรับมนุษย์เป็นสิ่งจรรโลงจิตใจ พลังของศิลปะเองก็ไร้เขตแดน ไร้ขีดจำกัด ไม่ว่าจะพูดภาษาใดก็สามารถเข้าใจศิลปะได้ แม้กระทั่งผู้พิการทางสายตาก็สามารถสัมผัสศิลปะได้เช่นกัน เราจึงมองว่าสิ่งนี้จะเข้ามาเติมเต็มและช่วยพัฒนาสังคม 

สำหรับโครงการ UOB Please Touch ปัจจุบันทำต่อเนื่องมา 9 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นคืออยากให้ศิลปะเข้าถึงได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะมีข้อจำกัดอะไรก็ตาม เป็นที่มาของคำว่า "ศิลปะสัมผัสได้" ซึ่งได้ร่วมทำกับบริษัท กล่องดินสอ จำกัด มาโดยตลอด

ย้อนกลับไปในปีแรกของโครงการฯ จะเป็นการสอนศิลปะสำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า "เล่นเส้น" จะมีทั้งสมุดและปากกาให้ผู้บกพร่องสายตาได้สร้างสรรค์ผลงาน ส่วนในปีที่ 2 ได้นำผลงานของน้องๆ ไปจัดแสดงนิทรรศการ โดยเชิญ 12 ศิลปินผู้มีชื่อเสียงของไทยมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยใช้อุปกรณ์ "เล่นเส้น" เช่นเดียวกัน และในปีถัดๆ มา บางปีจะเป็นเครื่องปั้น จนมาช่วงโควิด-19 เราก็ไม่ได้หยุด แต่เปลี่ยนวิธีการไปเป็นนิทานเสียงแทน ในโครงการหนังสือนิทานเสียง UOB Voice of Love นำพนักงานจิตอาสา 120 คนร่วมอ่านและลงเสียงนิทานจำนวน 100 เรื่อง

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น จึงเปลี่ยนมาส่งมอบกล่องศิลปะ UOB Please Touch Art Kit แก่น้องๆ ผู้บกพร่องทางสายตา เพื่อพวกเขาสามารถใช้อุปกรณ์ศิลปะได้ทุกที่ และยังได้แต่งแต้มจินตนาการบนรองเท้ากีฬาสีขาวที่ทำร่วมกับพี่อาสาสมัครยูโอบี เพื่อส่งต่อรองเท้าคู่นี้ไปให้เด็กๆ ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล 

"ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา" 

สาเหตุที่เลือกมาที่นี่ แน่ว่ามีหลายพื้นที่ที่ตั้งอยู่ห่างไกล และต้องการความช่วยเหลือหลากหลายเต็มไปหมด แต่เราเลือกทำได้เป็นส่วนๆ ซึ่งในด้านของความขัดสนแถบนี้อาจจะค่อนข้างหนักที่สุด เพราะว่าเด็กส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ ไร้สัญชาติ และพ่อแม่เด็กมักย้ายที่อยู่ตามงานที่มี ทำให้มีความลำบากในการเข้าเรียนในโรงเรียนตามเกณฑ์ปกติ

ประกอบกับพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้คือคนงานที่ทำอยู่ในไร่ส้ม เพราะฉะนั้นในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เขาคงไม่มีพอที่จะประคองไปได้ทั้งหมด จึงคิดว่ามันต้องมีส่วนที่ขาด และด้วยความที่เขาเป็นศูนย์การเรียน จึงไม่มีการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐ ส่งผลให้ค่อนข้างลำบากเหมือนกัน จึงมองหาการสนับสนุนจากภาคอื่นๆ เอกชนบ้าง หรือว่าบางทีก็เครือข่ายกันเอง ช่วยอะไรได้ก็ช่วยคนละนิดคนละหน่อยเพื่อประคองให้อยู่ไปได้ 

"ครู" ของที่นี่ คืออาสาสมัครที่มาเป็นครูให้กับน้องๆ ส่วนหนึ่งเขามีจิตอาสา และคนอื่นที่เข้ามาให้การช่วยเหลือสนับสนุน เป็นการเข้ามาทำด้วยความตั้งใจเต็มที่ โดยไม่ได้หวังอะไร เพราะฉะนั้นเมื่อเราเอาเครื่องมืออุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ศิลปะมาให้ คุณครูก็ต้องเอาไปใช้ในวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาพละ วิชาศิลปะ ซึ่งหวังว่าจะช่วยจุดประกายให้เด็กๆ ได้ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ 

แต่หากมองในระยะยาว ที่ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาจะค่อนข้างยาก เพราะพ่อแม่ของเด็กทำงานในไร่ส้ม เมื่อหมดฤดูกาลก็จะย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น ซึ่งเด็กๆ เองก็ต้องย้ายตามพ่อแม่ไปด้วย 

นางสาวธรรัตน โอฬารหาญกิจ กล่าวอีกว่า ปีที่แล้วผ่าน เรามามอบรองเท้าผ้าใบเช่นเดียวกับปีนี้ เพราะมองว่า "รองเท้าผ้าใบ" เป็นสิ่งจำเป็น ตอนที่เรามาถึง ก็เห็นน้องๆ ใส่แต่รองเท้าแตะ บางคนก็เท้าเปล่า ซึ่งเด็กๆ ต้องเดินไป-กลับบ้านกับที่นี่ ซึ่งในครั้งนี้เรานำรองเท้ามาแจกทั้งหมด 4 แห่ง รวมทั้งหมดจะมีนักเรียนประมาณ 300 คนในพื้นที่ห่างไกลตรงนี้ 

ไม่ใช่แค่ผู้รับ แต่ยังมีโอกาสเป็นผู้ให้

เมื่อถามถึงความคาดหวังของโครงการนี้ นางสาวธรรัตน โอฬารหาญกิจ กล่าวว่า เรามอง 2 ส่วน คือ ส่วนแรกอยากให้ศิลปะเข้าถึงได้กับทุกคน ให้ผู้บกพร่องทางสายตาได้ทำอะไรบางอย่างและให้เขารู้สึกว่ามีประโยชน์ ศิลปะทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่แค่โลกมืด จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเขาสามารถดึงเขาออกมาได้ บางครั้งเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสิ่งนี้อยู่ในตัวเขา ซึ่งในส่วนนี้เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้จากโครงการนี้ 

อีกประการเป็นสิ่งที่เราทำมาโดยตลอดคือการให้พนักงานมีส่วนร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนที่เราดำเนินการอยู่ เพราะฉะนั้นพนักงานที่เดินทางมากับเราในครั้งนี้ เขาก็จะรู้สึกว่ามันอิ่มเอม อย่างการมาเพ้นต์รองเท้าก็ต้องใช้เวลานอกเวลามาทำ เพราะฉะนั้นในเรื่องความคาดหวัง เราคาดหวัง 2 ส่วน คือ เรื่องให้ศิลปะเข้าถึงได้กับทุกคน แล้วก็ให้ทุกคนรู้สึกว่าได้ Pay It Forward ได้คืนอะไรให้กับสังคมบ้าง

จะเห็นได้ว่าเด็กๆ ที่ได้รับรองเท้าผ้าใบจะรู้สึกดีใจมาก บางคนได้รับรองเท้ามาแล้วก็ไม่กล้าใส่เพราะกลัวรองเท้าเปื้อน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นคนในเมืองอาจจะมองข้ามไปก็ได้ว่า ทำไมต้องให้รองเท้าผ้าใบ แต่สำหรับเด็กที่นี่กลับมีคุณค่ากับเขามากๆ 

เป็นมากกว่ารองเท้าผ้าใบสีขาว

แต่ถ้าเราจะให้รองเท้าผ้าใบขาวๆ ซื้อมาแจกก็จบ ขณะที่เด็กในเมืองบางคนมีรองเท้าผ้าใบราคาแพง มีหลากหลายแบบให้เลือก เราจึงมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กที่นี่ได้รองเท้าผ้าใบสวยๆ ที่เราสามารถมอบให้ได้ จึงเป็นที่มาของการที่นำรองเท้าผ้าใบสีขาวให้ผู้บกพร่องทางสายตาสร้างงานศิลปะ แล้วนำมาแจกให้กับเด็กๆ 

"ในตอนแรกมีความกังวลว่า รองเท้าสองข้างที่ลวดลายอาจจะไม่เหมือนกัน เด็กๆ จะใส่หรือไม่ แต่สุดท้ายแล้ว นั่นเป็นเพียงความคิดของคนกรุง ซึ่งเด็กๆ เขารู้สึกว่าไม่เหมือนใคร"

ภาพความสุข ความดีใจเหล่านี้ ก็ได้ส่งกลับไปให้น้องๆ ผู้บกพร่องทางสายตาได้รับรู้ด้วย ซึ่งหลังจากนี้เราก็จะทำกิจกรรมเหล่านี้ไปเรื่อยๆ แต่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบไป เพิ่มกิจกรรมเป็นผู้รับที่เราไม่ทอดทิ้ง ยังคงกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศิลปะให้ต่อไป คนอาจจะคิดว่า ผู้บกพร่องทางสายตามองไม่เห็นแล้วจะไปเรียนศิลปะทำไม แต่จริงๆ แล้ว มีหลายระดับคือ มองไม่เห็นเลย กับเลือนราง 

ดังนั้นสิ่งที่เป็นเหมือนกับความมุ่งหวังสูงสุดของเรา คือ ทำเพื่อให้เมืองไทยพัฒนา และการพัฒนามีหลายจุดมากๆ เชื่อว่าศิลปะจะเข้าไปเติมเต็มและจุดประกายในบางสิ่งที่คนมองไม่เห็น นั่นเป็นหลักการของเราในการทำเรื่องนี้.