- เปิดมุมมองนิสิต "คณะเศรษฐศาสตร์" จุฬาฯ ชีวิตในมหาวิทยาลัย มีอะไรน่าสนใจบ้าง
- คะแนนสูงสุด-ต่ำสุด รอบ Admission คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ย้อนหลัง 3 ปีล่าสุด
- เช็กรายละเอียดการรับสมัครใน TCAS67
พามารู้จักกับ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหนึ่งคณะที่น่าสนใจ ที่ถือว่ามียอดผู้สมัครเยอะเป็นอันดับต้นๆ พร้อมอ่านรีวิวจากรุ่นพี่ตัวจริง เพื่อเป็นแนวทางให้น้องๆ #Dek67 รู้ก่อน เตรียมตัวก่อน
ความเป็นมาของ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2513 โดยเกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง 2 คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือแผนกวิชาการคลัง คณะรัฐศาสตร์ และแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ที่มีความเข้มข้นทางวิชาการ และสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เนื้อหาหลักประกอบด้วยรายวิชาภาคทฤษฎีเชิงลึก เครื่องมือเชิงปริมาณ รายวิชาเพื่อความรู้ที่เท่าทันเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และรายวิชาที่เน้นในการประยุกต์องค์ความรู้ในเชิงบูรณาการ ตลอดจนกิจกรรมการศึกษาดูงานเพื่อให้นิสิตมีความเข้าใจ และสามารถวิเคราะห์ปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
...
พูดคุยกับ "เด็กเศรษฐศาสตร์" ปี 4 ทำไมถึงเลือกเรียนคณะนี้
นางสาวอาธิตยา พงษ์นิตย์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า สาเหตุที่เลือกเรียนคณะนี้ จริงๆ แล้วส่วนตัวเป็นคนชอบวิชาสังคมอยู่แล้ว ก็เลยสนใจคณะสายสังคม เลยเลือกเศรษฐศาสตร์ไปในลำดับแรกๆ ตอนสอบเข้า ตอนติดก็คิดว่าโอเคนะ ถึงตอนนั้นจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องเรียนอะไรลึกแค่ไหน รู้จักแต่อุปสงค์ อุปทานเลยตอนนั้น แต่คิดว่าเรียนได้ เพราะมีคนบอกว่าใช้เลขไม่เยอะ และก็รู้สึกว่าพอจบไปแล้วมีสายงานให้เลือกทำหลากหลาย ดูกว้างดีค่ะ
เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เรียนอะไรบ้าง
หลักสูตรเราเรียน 4 ปี จะเรียนเกี่ยวกับ Micro และ Macro ของระบบเศรษฐกิจ รู้ที่มาของเส้นอุปสงค์ อุปทาน พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการอรรถประโยชน์สูงที่สุด อย่างใน Macro ก็เรียนภาพกว้างเลยทั้งเงินเฟ้อ, GDP ต่างๆ ด้วยความที่คณะมีหลายสาย ทำให้แต่ละสายก็เรียนวิชาเฉพาะตามที่ตัวเองสนใจต่างกันไป เช่น สายการเงิน สายอินเตอร์ สายแรงงาน
อาจารย์สอนสนุก ออกแบบ "ตารางเรียน" เองได้
นางสาวอาธิตยา กล่าวว่า อาจารย์แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่เก่งมากๆ สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดี อาจารย์ใจดี แล้วก็สามารถตั้งคำถามได้ อาจารย์บางท่านก็ตลก ทำให้บรรยากาศการเรียนไม่น่าเบื่อ สนุกดี และความน่าสนใจอีกอย่างก็คือ เป็นคณะที่ค่อนข้างให้อิสระในการตัดสินใจว่าอยากจะเรียนเศรษฐศาสตร์ไปทางด้านไหน
นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกเรียนวิชาที่อยากเรียนเองได้ในหลายๆ วิชา สามารถจัดการวางแผนวิชาที่จะเรียนหรือวันที่จะเรียนเองได้ในเทอมนั้นๆ คือค่อนข้างยืดหยุ่นมาก เลยรู้สึกว่าทำให้เป็นคนที่จัดการเวลาในการเรียนกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องมีความรอบคอบมากขึ้น เพราะเราต้องเลือกวิชาลงทะเบียนเอง
เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มีกิจกรรมอะไรบ้าง
ในส่วนของกิจกรรมก็จะมีพวกกิจกรรมรับน้องใหม่ แล้วก็จะมีพวกค่าย EconCU First Step ที่จะเป็นค่ายสำหรับน้องมัธยมปลาย น้องๆ มัธยมปลายที่สนใจก็สามารถติดตามที่เพจ EconCU First Step ได้เลย
เรียน "คณะเศรษฐศาสตร์" จบไปทำอะไร
ส่วนตัวคิดว่าจบแล้วสามารถไปประกอบอาชีพได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสายการเงินก็ทำในธนาคาร นักเศรษฐกรในหน่วยงานรัฐ ทำงาน consult ในบริษัทเอกชนก็ได้
คำแนะนำจาก "รุ่นพี่"
คำแนะนำสำหรับน้องๆ ส่วนตัว คือ อ่านหนังสือเน้นทำโจทย์เยอะๆ ส่วนเรื่องการปรับตัวในมหาวิทยาลัย เราไม่ค่อยได้ปรับมาก เพื่อนทุกคนน่ารัก แล้วก็ช่วยเหลือกันดีมาก ก็เลยไม่ค่อยได้ปรับตัวอะไรเท่าไร จริงๆ รู้สึกว่าตัวเองคิดถูกที่เลือกเรียนคณะนี้ มันยากในช่วงปี 1-2 แต่พอผ่านไปได้มันโอเค
มีเพื่อนคอยช่วยเหลือกันดี สังคมในคณะก็จะเล็กๆ อบอุ่นกันดี อาจารย์ก็ดี สามารถถามคำถามได้ตลอด แล้วก็ได้แนวคิดที่กว้าง มีแนวการสอนที่แปลกใหม่ในบางคลาส เช่น อาจารย์ใช้วิธีสอนแบบให้นิสิตหัดตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน ทำให้รู้สึกสนุกเวลาเรียนค่ะ
เปิด "สถิติคะแนนสอบเข้า" ย้อนหลัง 3 ปีล่าสุด รู้ก่อนเตรียมตัวก่อน
สำหรับสถิติการสมัครเข้า คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือว่าคณะที่มีผู้สนใจสมัครในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยมีรายละเอียดของคะแนนการสอบเข้ารอบ Admission 3 ปีล่าสุด ดังนี้
ในรอบ 3 Admission ปี 2564 จากสัดส่วนการคิดคะแนน GAT 40 % / PAT1 (ความถนัดทางคณิตศาสตร์) 40% / วิชาสามัญ (สังคมศึกษา) 20%
โดย เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ GAT/PAT 25%, วิชาสามัญ (สังคมศึกษา) 25%
- คะแนนต่ำสุด อยู่ที่ 57.66 คะแนน
- คะแนนสูงสุด อยู่ที่ 75.60 คะแนน
ในรอบ 3 Admission ปี 2565 มีสัดส่วนการคิดคะแนน GAT 40% / PAT1 (ความถนัดทางคณิตศาสตร์) 40% / วิชาสามัญ (สังคมศึกษา) 20%
โดย เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ GAT/PAT 25%, วิชาสามัญ (สังคมศึกษา) 20%
- คะแนนต่ำสุด อยู่ที่ 51.96 คะแนน
- คะแนนสูงสุด อยู่ที่ 75.10 คะแนน
ในรอบ 3 Admission ปี 2566 มีการคิดสัดส่วนต่างไปจากเดิม คือใช้ TGAT 40% และ A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 30% / A-Level ภาษาอังกฤษ 10% / A-Level ภาษาไทย 10% / A-Level สังคมศึกษา 10%
โดย เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ TGAT และ A-LEVEL วิชาละ 25%, คะแนนขั้นต่ำรวมทุกวิชา 40%
- คะแนนต่ำสุด อยู่ที่ 57.61 คะแนน
- คะแนนสูงสุด อยู่ที่ 76.13 คะแนน
รายละเอียดการรับสมัครใน TCAS67
สำหรับคณะเศรษฐศาสตร์ (หลักสูตรภาษาไทย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเปิดรับสมัครตั้งแต่รอบที่ 1 (Portfolio) และรอบ 2 (Quota) ซึ่งในปัจจุบันปิดรับไปแล้ว
ส่วนในรอบที่ 3 Admission คณะเศรษฐศาสตร์ จะเปิดรับสมัครจำนวน 140 คน ระหว่างวันที่ 6-12 พฤษภาคม 2567 โดยมีสัดส่วนการคิดคะแนนใน TCAS67 คล้ายกับปี 2566 ดังนี้
- TGAT 40%
- A-Level คณิตศาสตร์ประยุกต์ 30%
- A-Level ภาษาอังกฤษ 10%
- A-Level ภาษาไทย 10%
- A-Level สังคมศึกษา 10%
- เกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ TGAT และ A-LEVEL วิชาละ 25%, คะแนนขั้นต่ำรวมทุกวิชา 40%
สำหรับการเปิดรับสมัครรอบที่ 4 ยังไม่มีประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการ (อัปเดตข้อมูลวันที่ 5 มีนาคม 2567) หากน้องๆ ที่สนใจ หรือต้องการทราบความคืบหน้าเพิ่มเติม สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นี่ (คลิก)