- จุฬาฯ วิจัยเจาะลึกชีวิตนักเรียนอาชีวะ และเส้นทางสู่แรงงานอาชีวศึกษา ชี้เอกลักษณ์แรงงานอาชีวะไทยถูกใจผู้ประกอบการทั้งไทย และต่างชาติ
- ปัญหา และอุปสรรคบนเส้นทางอาชีวศึกษา รวมถึงข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาอาชีวศึกษาไทย
เมื่อภาพ "นักเรียนอาชีวะ" อาจจะเป็นภาพจำที่ไม่ดีของใครหลายๆ คน เนื่องจากข่าว และภาพความรุนแรง ตลอดจนอาชญากรรมต่างๆ ทั้งๆ ที่ในหลายโอกาสนักเรียนอาชีวะก็ใช้ทักษะ และความรู้ทำประโยชน์ให้ชุมชน และสังคมด้วยเช่นกัน แต่มักไม่เป็นข่าว
และจากภาพลักษณ์เชิงลบ ส่งผลให้เด็กจำนวนมากไม่นิยมเลือกเรียนสายอาชีพ ทำให้ปัจจุบันไทยเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานทักษะมีฝีมือจากอาชีวศึกษาในหลายอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานอาชีวศึกษาไทย โดยระบุว่า นักเรียนอาชีวะและแรงงานทางด้านอาชีวศึกษาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ ถือเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติ และมีศักยภาพในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง
พร้อมดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกับ ดร.กุลนิษฐ์ สุธรรมชัย และคณะ ในเรื่อง "การพัฒนาศักยภาพและเอกลักษณ์แรงงานอาชีวศึกษาไทยใน 3 อุตสาหกรรมหลัก: การวิเคราะห์ผ่านแผนที่เส้นทางการก้าวเข้าสู่แรงงานอาชีวศึกษาไทย ภายใต้แนวคิดความปกติใหม่" ตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึง พฤษภาคม 2565 ซึ่งผลการศึกษาวิจัยสะท้อนให้เห็นปัญหา และอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษาไทย จุดเด่น-เอกลักษณ์อาชีวะไทยที่เป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงาน ซึ่งน่าส่งเสริมยกระดับให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอต่างๆ เพื่อพัฒนาแรงงานสายอาชีพของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ ทักษะ (Up-Skill) และการสร้างอาชีพใหม่ เป็นต้น
...
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดี สาขาสังคมวิทยา ประจำปี 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่ง รศ.ดร.จุลนี เผยความตั้งใจว่า เพราะต้องการฉายภาพลักษณ์ในเชิงบวก จุดแข็ง และเอกลักษณ์ของแรงงานอาชีวศึกษาไทย ที่มาจากมุมมองของ "คนใน" 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาที่กำลังศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.), กลุ่มแรงงานอาชีวศึกษา ที่เรียนจบแล้ว ทำงานอยู่ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และ กลุ่มนายจ้างที่รับผู้จบการศึกษาอาชีวะเข้าทำงาน เพื่อให้สังคมเห็นภาพของอาชีวศึกษาที่รอบด้านมากขึ้น ที่ไม่ได้มีเพียงการทะเลาะวิวาทดังในภาพข่าว
แรงจูงใจให้นักเรียนเลือกสายอาชีวศึกษา
ทั้งนี้ ผลวิจัยเผยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนด้านอาชีวศึกษาของนักเรียน ได้แก่ ปัจจัยภายใน คือ การรู้จักตัวเองว่ามีความชื่นชอบ และสนใจการเรียนอาชีวะ ซึ่งเน้นการลงมือปฏิบัติ และมีเป้าหมายอาชีพในอนาคตชัดเจน
ส่วนปัจจัยภายนอก อาทิ คนรอบตัว โดยเฉพาะครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนอาชีวะ การเห็นโอกาสที่จะได้งานทำหลังเรียนจบ สามารถหารายได้พิเศษระหว่างเรียน เหตุผลด้านการเงิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการเรียนที่ไม่เป็นภาระครอบครัว การได้รับทุนการศึกษา การได้รับคำแนะนำจากครูแนะแนว และการประชาสัมพันธ์จากสถาบันอาชีวศึกษา รวมถึงภาพลักษณ์ และชื่อเสียงของสถาบันอาชีวศึกษาและบริบทพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่เด่นในเรื่องการท่องเที่ยว จะมีนักเรียนที่อยากเรียนสาขาการท่องเที่ยว เป็นต้น
จุดเด่นนักเรียนอาชีวะ ความรู้คู่ทักษะ ประสบการณ์เพียบ
รศ.ดร.จุลนี กล่าวว่า อาชีวศึกษาเป็นทางเลือกที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าการเรียนสายสามัญ หรืออาจจะได้เปรียบกว่าด้วยซ้ำ อาชีวศึกษาคือการเรียนในสิ่งที่ใช้ได้จริง นักเรียนสายอาชีวศึกษามีทั้ง “ความรู้” และ “ทักษะ” ที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง ผ่านการเรียนรู้แบบ “ฝึกฝนลงมือทำ” จึงเกิดทักษะ ทั้ง “Hard Skills และ Technical Skills”
เมื่อเดินเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในปีที่ทำวิจัย สายอาชีวศึกษาในประเทศไทยมีการเรียนการสอนกว่า 11 ประเภทวิชา และจำนวนสาขาวิชาที่เปิดสอนกว่า 93 สาขาวิชา ซึ่งสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้หลากหลาย ปัจจุบันมีถึง 102 สาขาวิชา
นอกจากนั้น ด้วยความที่ได้รับโอกาสในการฝึกฝนลงมือปฏิบัติทั้งในโรงเรียน และในสถานประกอบการ นักเรียนอาชีวะจึงได้พัฒนาทักษะและสมรรถนะสำคัญ (Soft Skills) ที่ไม่ใช่ทักษะอาชีพโดยตรงด้วย เช่น ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การควบคุมอารมณ์ ความเข้มแข็งอดทน การรับมือกับความกดดันในโลกแห่งความเป็นจริง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ฯลฯ ซึ่งทักษะเหล่านี้เสริม "ความพร้อม" และ "ความชำนาญ" ในการปฏิบัติงาน ซึ่งทำให้นายจ้าง และผู้ประกอบการมั่นใจที่จะจ้างงานนักเรียนอาชีวะ ด้วยความเชื่อมั่นว่านักเรียนกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้เร็ว และต่อยอดงานได้ทันที
นอกจากนี้ รศ.ดร.จุลนี ยังระบุด้วยว่า แรงงานอาชีวศึกษาไทยมีเอกลักษณ์อันเป็นที่ยอมรับ และต้องการในตลาดแรงงานทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงไม่เป็นสองรองใครในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ลักษณะงานต้องใช้ทักษะฝีมือ และความชำนาญสูง แรงงานอาชีวศึกษาไทยจะยิ่งมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ อาชีพด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม ศิลปกรรม และอาหาร แรงงานอาชีวศึกษาไทยมีทักษะฝีมือดี จนบริษัทต่างชาติให้การยอมรับ และจ้างไปทำงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมที่เน้นการบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว แรงงานอาชีวะไทยจัดได้ว่ามีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาด การไหว้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทย สิ่งที่สร้างความแตกต่างคือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ ส่งผลให้แรงงานไทยมีคุณลักษณะที่ส่งผลดีต่อการทำงานในสายอาชีพ เช่น การรับมือกับลูกค้าด้วยความสุภาพ นอบน้อม มีสัมมาคารวะกับรุ่นพี่ หรือนายจ้าง ฯลฯ และกลายเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากแรงงานชาติอื่นๆ
จากจุดเด่นที่มาจากต้นทุนทางวัฒนธรรม รศ.ดร.จุลนี กล่าวแนะว่า หากนักศึกษา และแรงงานอาชีวะไทย ได้รับการสนับสนุนโดยการเพิ่มทักษะความรู้เฉพาะทางของแต่ละสาขา รวมถึงการสื่อสารภาษาต่างประเทศ และการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้นักเรียน และแรงงานอาชีวะไทย มีความโดดเด่นอย่างก้าวกระโดด
ปัญหา และอุปสรรคบนเส้นทางอาชีวศึกษา
นอกจากนั้น งานวิจัยชี้ให้เห็นปัญหา และอุปสรรคหลายประการสำหรับนักเรียนอาชีวะ ตั้งแต่การเรียนอาชีวะ จนไปถึงการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ปัญหาที่พบมีทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน อาทิ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ชำรุด หรือตกรุ่นไปแล้ว ไม่มีสื่อการสอนที่หลากหลายและเหมาะสม ไม่มีห้องปฏิบัติการจำลองการทำงานเสมือนจริง หรือมี แต่ไม่ครบถ้วน
หลักสูตร วิชาสามัญ เน้นการท่องจำ และสั่งงานมากกว่าวิชาหลักในสายอาชีพ รายวิชามีเนื้อหาไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง บางรายวิชามีเนื้อหาที่ยากเกินความจำเป็น ฯลฯ
ครู มีไม่เพียงพอ ไม่มีความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน ขาดทักษะทางเทคโนโลยี
ตัวนักเรียน เช่น ต้องทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ ฯลฯ จนทำให้ขาดการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์
นอกจากปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนแล้ว งานวิจัยยังชี้ให้เห็นปัญหาการลาออกระหว่างเรียน ซึ่งมีหลายสาเหตุเป็นต้นว่า นักเรียนเพิ่งมาค้นพบในภายหลังว่าสาขาที่เลือกเรียนนั้นไม่ถนัด และไม่ตรงกับจริตของตนเอง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเข้าใจผิด และการไม่มีข้อมูลหรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาขาที่ตนเลือกมาเรียน นักเรียนไม่ทราบถึงความชอบ และความถนัดของตนเองอย่างแท้จริง รวมทั้งเกิดการตั้งครรภ์ระหว่างเรียน ปัจจัยทางด้านครอบครัวมีฐานะยากจนลำบาก และปัจจัยเกี่ยวกับครู หรือโรงเรียน
ส่วนปัญหาอุปสรรคที่แรงงานอาชีวศึกษาพบในช่วงการทำงาน หนีไม่พ้นเรื่องผลกระทบจากภาพลักษณ์ในแง่ลบของอาชีวศึกษา ทำให้ถูกตีตรา ถูกสบประมาทแบบเหมารวมตามภาพจำเกี่ยวกับนักเรียนอาชีวศึกษา รวมทั้งถูกลดทอนคุณค่าว่าด้อยกว่าคนที่จบสายสามัญและมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษา เช่น วุฒิที่ได้/สาขาที่เรียนไม่ตรงกับความต้องการตลาด และไม่ตรงกับวุฒิที่ประกาศรับสมัครงาน วุฒิที่ได้รับจากอาชีวศึกษามักไม่เพียงพอให้สามารถเลื่อนตำแหน่งสูงๆ ต้องอาศัยการพิสูจน์ตัวเองอย่างมาก ผลกระทบจากนายจ้าง เช่น ถูกกดเงินเดือน นายจ้างไม่มั่นใจว่าจะมีทักษะความรู้มากพอที่จะทำงานได้ นายจ้างคาดหวังสูงว่านักเรียนอาชีวศึกษาจะทำงานเป็นทุกอย่าง ฯลฯ
แม้จะมีอุปสรรคนานาดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่นักเรียน และแรงงานอาชีวศึกษาจำนวนไม่น้อยก็พยายามพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้แหล่งข้อมูลความรู้หลายช่องทาง ทั้งการใช้สื่อออนไลน์ เช่น Google, YouTube อ่านตำรา เอกสาร หนังสือ สอบถามครูอาจารย์ รุ่นพี่ที่โรงเรียน หรือที่ทำงาน หัวหน้างาน และเพื่อนในสาขาอาชีพเดียวกันที่ทำงานอยู่คนละที่
นอกจากนี้ นักเรียนอาชีวะมองว่าการเข้าร่วมการแข่งขันทักษะฝีมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด ภาค ประเทศ หรือระดับระหว่างประเทศ เป็นช่องทางในการพัฒนาตนเองได้เป็นอย่างดี รวมถึงยังมีการใช้ช่องทางออนไลน์ในการสร้างสังคมการเรียนรู้ เช่น การสร้าง LINE Group หรือ Facebook Page Group เพื่อการรวมตัวกันของช่างในแต่ละสาขา
แนวทางการพัฒนาอาชีวศึกษาไทย
ผลการวิจัยได้ให้ข้อเสนอโดยภาพรวม ที่จะช่วยให้อาชีวศึกษาไทยพัฒนาไปได้มากกว่านี้ และสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาให้ดียิ่งขึ้นในสังคม เป็นต้นว่า
- สร้างสถาบันอาชีวศึกษาเฉพาะทางของสาขาอาชีพ และพัฒนาให้โดดเด่น ได้มาตรฐานนานาชาติ และมีชื่อเสียงระดับโลก
- เพิ่มการออกข่าวในด้านดี และความสำเร็จของนักเรียนและแรงงานอาชีวศึกษาให้มากขึ้น เพื่อให้คนในสังคมเห็นความสามารถของนักเรียนอาชีวศึกษาในแขนงต่างๆ รวมทั้งการนำผลงานของนักเรียนที่ไปประกวดชนะการแข่งขันในระดับต่างๆ มานำเสนอให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
- เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชน ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบที่ไม่ใช่แค่ข่าวโทรทัศน์ อาจจะเป็นสื่อในรูปแบบละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์ต่างๆ ที่สอดแทรกบทบาทของอาชีวศึกษาในทางสร้างสรรค์ให้มากขึ้น
- มีระบบการดูแลสนับสนุนกลุ่มนักเรียนที่มีฝีมือ หรือเคยชนะการประกวดได้รางวัลให้ได้ทำงานกับองค์การระดับต้นๆ ของไทย หรือให้ทุนไปดูงานในต่างประเทศเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้นำความรู้มาต่อยอดได้
- สร้างความผูกพันระหว่างอาชีวศึกษากับชุมชน ผ่านการส่งเสริมให้อาชีวศึกษากับชุมชนร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ของตนเอง
นอกจากนี้ รศ.ดร.จุลนี ได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับภาครัฐ และเอกชน อาทิ
- ด้านงบประมาณ รัฐควรให้การสนับสนุนสถาบันอาชีวศึกษาทั้งในด้านงบประมาณ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็น และมีความทันสมัย ตลอดจนให้ทุนการศึกษา
- ด้านการพัฒนาหลักสูตร และการเรียนการสอน ควรให้ความสำคัญกับการสอนภาษาต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเน้นให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้จริง โดยเฉพาะทักษะการพูด สนับสนุนการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะที่หลากหลาย และตอบโจทย์ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มากขึ้น ทั้งนี้ หลักสูตรอาชีวศึกษาควรมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ควรให้สถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร และมาเป็นวิทยากรพิเศษสอนนักเรียนในสถาบันอาชีวศึกษา
รศ.ดร.จุลนี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และสถาบันอาชีวศึกษา ควรร่วมมือกันสร้างระบบที่เป็นโปรแกรมพัฒนา และดูแลนักเรียนอาชีวะผู้มีศักยภาพ (Talent Incubation) ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถติดตามแรงงานอาชีวศึกษาที่ประสบความสำเร็จให้กลับมาเป็นรุ่นพี่ที่ให้ข้อมูลรุ่นน้อง เป็นการสร้าง Role Model สร้างแรงจูงใจจากผู้ประสบความสำเร็จจริง และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอาชีวศึกษาได้อีกทางหนึ่งด้วย
สุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งคือรัฐบาล และสถานศึกษา ควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษาที่ถูกต้องและครอบคลุม ทั้งข้อมูลเรื่องหลักสูตรการศึกษา รายละเอียดการเรียนการสอน โอกาสในการมีงานทำ โอกาสในการพัฒนาศักยภาพ และโอกาสในการศึกษาต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูมัธยมศึกษา ครูแนะแนวควรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาขา และการเรียนอาชีวศึกษา เพื่อที่จะให้คำแนะนำกับนักเรียนได้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ทำให้นักเรียนเลือกเรียนผิดสาขา หรือไม่ตรงกับความชอบความถนัดของตนเองด้วย.