ตำนาน “ไหลเรือไฟ” เชื่อว่ามีมาแต่โบราณนานแค่ไหนตอบไม่ได้ รู้เพียงว่าเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท สักการะท้าวพกาพรหม หรือบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี ขอบคุณแม่คงคาบ้างว่าขอฝนและไฟเผาชำระทุกข์ให้หมดไป

เหนืออื่นใดบูชาพระพุทธเจ้าถึงภพพญานาคลำน้ำโขง เดิมใช้หยวกกล้วยลอยน้ำโดยปักโครงไม้ติดขี้ไต้หรือตะเกียงส่องสว่างให้เห็นภาพโครงนั้นก่อนปล่อยให้ไหลลงสู่ลำโขง

ประเพณีนี้นิยมทำกันวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ แรม 1 ค่ำ เดือน 1 และสืบสานบริเวณท้องน้ำหน้าเมืองนครพนม หรือพื้นที่อีสานแหล่งชุมนุมพญานาคในบางถิ่น

กว่า 100 ปี ไหลเรือไฟแดนนี้ถูกผูกเป็นงานบุญประจำปี เพิ่งสะดุดชั่วคราวเมื่อโควิดระบาดปี 2562 ฟื้นกลับอีกทีปี 2565 แต่เป็นเพียงการแสดงเรือไฟฉบับย่อไม่มีการประกวด มาปีนี้...จัดเต็มคาราเบลเหมือนเคย

ขณะรัฐบาลชุดนี้เอาด้วยกับการวางนโยบายภายใต้วิธีคิด “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่นายโจเซฟ ไนย์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คิดขึ้นมา

โดยไทยเรานำมาใช้ส่งเสริมวัฒนธรรม “5 เอฟ” เริ่มจากฟู้ด คืออาหารไทย ฟิล์มหมายถึง ภาพยนตร์วีดิทัศน์ แฟชั่นแบบสไตล์ไทย ไฟต์ติ้งได้แก่ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว

และ...เฟสติวัล สื่อถึงอีเวนต์เทศกาลไทย

...

“ไหลเรือไฟคู่ธาตุศักดิ์สิทธิ์” ถูกจัดเป็นหนึ่งของกระบวนการ 5 เอฟ ที่หากส่งเสริมจริงจังก็เท่ากับผลักดันให้ท้องถิ่นมีรายได้จากคลื่นมนุษย์อย่างงาม จะเห็นว่าในปีนี้...นครพนมเมืองแคมโขงแทบแตก! เมื่อมีนักท่องเที่ยวไหลไปกระจุกตัวมากเป็นประวัติการณ์

ปราชญ์ท้องถิ่นมากประสบการณ์รู้สึกตื่นเต้นบอกเกิดมาเพิ่งเคยเห็น น่าจะเกิดจากโควิดเป็นเหตุให้คนอั้นอยู่ 3 ปี พอจัดเรือไฟเต็มรูปแบบมีหน่วยงานส่งเรือเข้าแข่งขันมากมาย

บรรยากาศจึงคึกคักราวป่าช้าแตก จังหวัดข้างเคียง อาทิ มุกดาหาร ยโสธร อุบลฯ สกลนคร กาฬสินธุ์ ถึงมหาสารคามก็พลอยรับอานิสงส์ไปด้วย

จังหวัดนครพนม...มีโรงแรม 215 แห่ง 4,377 ห้อง ถูกจองเต็มหมดในราคาผีเห็นโลงศพ ปกติเคยขาย 600 ปรับสูงเป็น 2,000 บาทไม่เห็นจังหวัดทำอะไรได้ คนเบี้ยน้อยอาศัยวัดหรือโรงเรียนนอน

บางรายกางเต็นท์ในพื้นที่ทหารกับตำรวจตระเวนชายแดน

“การจราจรก็อัมพาตไปครึ่งเมือง เพราะตำรวจไม่มีประสบการณ์ ลานจอดรถมีหน่วยงานสนับสนุนที่จอดฟรีก็จริง แต่ไม่พอต้องพึ่งเอกชนแบบผีถึงป่าช้าคันละ 200 บาท”...

นี่คือภาพที่ปราชญ์สะท้อนถึงความไม่พร้อม กรณีจะขับเคลื่อนอีเวนต์ไหลเรือไฟสู่ “พลังซอฟต์พาวเวอร์”

ต่อเนื่องมาที่ ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง กันบ้างกับโหมดใหม่ที่ปลุกวิญญาณนักอนุรักษนิยม

กรณีเทศบาลตำบลปากน้ำประแสรับบทโต้โผจัดงานบุญประจำปี “ทอดผ้าป่ากลางน้ำ” ร่วมกับจังหวัดและสำนักงานวัฒนธรรมในพื้นที่ บริเวณปากน้ำประแสช่วงวันที่ 26-28 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

โดยในวันที่ 27 พฤศจิกายน คอนเซปต์งานกลางวันทำบุญทอดผ้ากฐิน บ่ายแข่งเรือพาย คล้อยค่ำลอยกระทงคืนเพ็ญ...เป็นเช่นนี้เหมือนทุกปี เพื่อสนองซีนาริโอซอฟต์พาวเวอร์

“ปีนี้พิสดารกว่าทุกปี” ผู้นำชุมชนรายหนึ่ง ว่า “...มีพ่อค้าเขียงหมูสามย่านพื้นเพเป็นชาวอีสาน รู้กันดีว่าคือที่ปรึกษานายกเทศบาลตำบลประแส

คนนี้...ใจถึงพึ่งได้ลงทุนทุ่มเงินส่วนตัวจ้างช่างมาทำเรือไฟแบบนครพนม แล้วไหลตามสายน้ำประแสให้มีสีสัน คนย่านนี้ก็เลย อดสงสัยไม่ได้...คงเตรียมลงเล่นการเมืองท้องถิ่นสมัยหน้าหรือเปล่า?”

ทว่ากรณีนี้นักอนุรักษ์ท้องถิ่นแย้งว่า...สำนักงานวัฒนธรรมรู้มั้ย? นี่คือการทำลายวัฒนธรรมดีงามของที่นี่ ที่ชาวบ้านประแส

ร่วมกันรักษามากว่า 100 ปี เพราะไม่ว่าจะขุดหลุมประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำแห่งนี้หลุมใด ก็ไม่ปรากฏพิธีไหลเรือไฟ เช่น อีสานมีน้ำโขง เป็นต้นตำนานพญานาค

“เด็กรุ่นใหม่มาเห็นคงนึกสิว่า...แม่น้ำประแสมีพญานาคถึงต้องไหลเรือไฟบูชา คนต่างถิ่นเองก็มีแต่จะเย้ยหยันชาวประแสที่ไม่รู้จักรักษาเอกลักษณ์ตัวเอง ถึงได้แอบเอาประเพณีถิ่นอื่นมานำเสนอเช่นนี้”

ในประเด็นเดียวกัน...“คนขายทัวร์” กลุ่มสนใจพิเศษประเภทวิถีชุมชน เปิดมุมมองน่าฟังไว้ว่า ชุมชนปากน้ำประแสได้ชื่อว่าเป็น แหล่งประวัติศาสตร์มาแต่ครั้งอยุธยา...เป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทยพื้นถิ่นทำประมงยังชีพมาหลายรุ่น ถึงได้เกิดประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำขึ้น

นั่นเพราะพวกเขาใช้เวลากับ “ทะเล” มากกว่า “บ้าน” บนแผ่นดิน อีกกลุ่มเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่บรรพบุรุษอพยพกันมานานถนัดเรื่องค้าขาย โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

คนขายทัวร์ชี้ปากน้ำประแสเป็นชุมชนที่กำลังออร่า ด้วยมีต้นทุนคือวิถีประมงเดิมๆที่ยังดำเนินอยู่ เช่น ลักษณะสังคมสิ่งแวดล้อมแบบบ้านๆภาคตะวันออก

คนหนุ่มสาวสมัยใหม่ถึงจะมีบ้างที่ทิ้งถิ่น แต่คนเฒ่าคนแก่ยังใช้ชีวิตอยู่กับการแปรรูปอาหารทะเล สามารถรวมกลุ่มสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนป้อนตลาดได้

“ปัจจุบันมีถนนเฉลิมบูรพาชลทิตตัดผ่านโลเกชันสวยงาม มีสะพานประแสสินเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำประแสคร่อมบริเวณปากอ่าว ทำให้เป็นโครงข่ายท่องเที่ยวในกลุ่มหาดแม่พิมพ์ห่างกันแค่ 11 กิโลเมตร และห่างหาดเจ้าหลาวจันทบุรีเพียง 30 กิโลเมตร อนาคตชุมชนปากน้ำประแสคาดน่าจะสดใส”

แน่นอนเสน่ห์ดึงดูดทั้งหมดเหล่านี้ ภายใต้โครงการโบแดง... ซอฟต์พาวเวอร์

การสร้างคอนเทนต์อุปโลกน์นำเรือไฟเจ้าปัญหามาก่อกวนชุมชน ครั้งนี้ นักพัฒนาการท่องเที่ยวเห็นเป็นเรื่องปกติ...ถ้าคนคิดฉลาดนำวิธีการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวมาใช้

ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเพณีดังกล่าว เพื่อการรับรู้กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวยังแหล่งนั้นๆ

“ตัวอย่าง ยโสธรไปแสดงบั้งไฟจับคู่กับจังหวัดไซตามะ ญี่ปุ่น แลกไซตามะนำบั้งไฟริวเซมาอวดยโสธรทุกปีช่วง 4 ทศวรรษที่

ผ่านมา หรือล่าสุดอุบลราชธานีนำแห่เทียนพรรษาไปอวดในงานชักพระสุราษฎร์ธานี โดยเมืองคนดีนำประเพณีชักพระไปขิงโชว์เมืองดอกบัว”

สรุปว่า...ถ้าคนต้นคิดเรื่องนี้คนนั้นทำเนียนๆจับมือ “นครพนม” แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม “ไหลเรือไฟ” กับพิธี “ทอดผ้าป่ากลางน้ำชาวประแส” ทุกอย่างก็จะแปะเอี่ยลงตัวด้วยกันทั้งสองฝ่าย...

แต่คนมหาดไทยแอบกระซิบ ปัญหาสำคัญมีว่าต้องดูดีๆว่า “พ่อเมือง” ทั้ง 2 แห่งนี้กำลังกินเกาเหลากันอยู่หรือเปล่า? ถ้าจับมือกันได้ลงตัวก็จะวินวินกันทุกฝ่ายนะจ๊ะ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม