นักวิชาการตั้งคำถามถึงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท กังวลเพิ่มความเสี่ยงเรื่องวินัยการเงินการคลัง และสร้างภาระใช้หนี้ในอนาคต จี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องก้าวข้ามนโยบายประชานิยม

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาล โดยมองว่า นโยบายประชานิยมทำลายโอกาสของประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงเวลาต้องก้าวข้ามแล้ว ซึ่งสามารถสรุปใจความตอนหนึ่งได้ดังนี้  

จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบนโยบายเร่งด่วนนรัฐบาลมีเป้าหมายจะกระตุ้นการใช้จ่าย โดยมีมาตรการสำคัญคือ แจกเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ต้องใช้วงเงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ถ้าพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ได้กำหนดไว้จำนวน 3.3 ล้านล้านบาทแล้วนั้น จะพบว่าไม่เพียงพอถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงกรอบวงเงินงบประมาณ 2567 ใหม่แล้วก็ตาม หากรัฐบาลเลือกใช้งบกลาง หรือเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินก็จะยังมีข้อจำกัดในการใช้อีกหลายประการ หรือหากจะต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐย่อมจะสร้างภาระหนี้ผูกพันของรัฐบาลให้สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น นโยบายนี้จะเพิ่มความเสี่ยงและความกังวลเรื่องวินัยการเงินในปัจจุบัน และยังสร้างภาระทางการคลังของประเทศที่จะต้องกันงบประมาณมาใช้หนี้ต่อไปในอนาคต

นอกจากนโยบายแจกเงินรัฐบาลชุดนี้ยังมีเป้าหมายในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนผ่านการลดค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน สำหรับการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้า รัฐบาลมีแนวคิดที่จะปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) อันจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ของรัฐต่อการไฟฟ้า และยืดระยะเวลาที่รัฐจะต้องชำระหนี้ที่เกิดจากมาตรการอุดหนุนค่าไฟในช่วงที่ราคาพลังงานสูงตอนต้นของสงครมยูเครน รัฐบาลจะต้องมีการชำระหนี้คืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในระยะเวลา 20 เดือน ในส่วนก๊าซหุงต้ม และน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น รัฐบาลจะดำเนินการลดราคาพลังงานผ่านกลไกการลดภาษี พร้อมกับการอุดหนุนผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการอุดหนุนในช่วงที่ผ่านมาได้เคยทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องติดลบสูงถึงประมาณ 1.3 แสนล้านบาท แม้ปัจจุบันจะลดลงแล้วก็ตาม แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงติดลบอยู่ถึงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งของการติดลบที่ลดลงนี้เกิดจากรัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยให้กับกองทุนนน้ำมันเป็นจำนวนเงินถึง 5.5 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มที่รัฐจะต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อให้กองทุนน้ำมันใช้หนี้ภาคธุรกิจน้ำมันและเพิ่มสภาพคล่องของกองทุนน้ำมัน โดยตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น รัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือลดราคาน้ำมันดีเซลผ่านกลไกการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร ซึ่งมาตรการนี้มาตรการเดียวได้ส่งผลกระทบทำให้รายได้ของรัฐบาลหายไปไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท

...

ผลกระทบจากนโยบายเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนนี้ ระยะสั้นอาจนำไปสู่การเพิ่มกำลังซื้อในสินค้าและบริการ แต่ในขณะเดียวกันหากศักยภาพการผลิตของประเทศไทยยังอยู่ในระดับเดิมย่อมจะผลักดันให้ราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้น เร่งภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอยู่แล้วให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดยอาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ถึง 5% ถึง 10% ภายใน 1 ปี หลังจากการแจกเงิน 10,000 บาทนี้ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้อาจจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจากปริมาณเงินในระบบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และการกู้เงินของประชาชนเพิ่มขึ้นในท้ายที่สุด ขณะที่มาตรการลดค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม น้ำมันให้แก่ประชาชนของรัฐบาลจะช่วยลดรายจ่ายของประชาชนในเพียงช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประเทศไทยยังคงขาดประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ดังเห็นได้จากประเทศไทยมีต้นทุนการขนส่งสินค้าที่อยู่ในระดับสูง เพราะขาดรูปแบบการขนส่งระบบราง และการขนส่งทางน้ำที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้นทุนการเดินทางของประชาชนยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายได้ เพราะประเทศไทยยังขาดระบบขนส่งมวลชนที่มีมาตรฐาน มีความสะดวกปลอดภัยครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นอกจากนโยบายประชานิยมเหล่านี้ที่เสมือนเป็นการป้อนข้าวป้อนน้ำ ทำให้ประชาชนไทยเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต คอยเรียกร้อง และรอรับมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐแล้ว ประเทศไทยยังมีนโยบายอีกจำนวนมากรัฐบาลเป็นผู้คิดให้ คิดแทน หรือแม้กระทั่งกำหนดกรอบให้ประชาชนต้องปฏิบัติ และห้ามปฏิบัติโดยไม่จำเป็น เช่น การที่รัฐกำหนดให้การเล่นพนันเป็นการผิดกฎหมาย หรือการที่ไม่อนุญาตให้จัดตั้งกาสิโนในประเทศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมีคนไทยจำนวนมากข้ามแดนไปใช้บริการกาสิโนในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่การเล่นพนันในรูปแบบออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสะดวกสบายมากขึ้น แต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียเม็ดเงินจำนวนมากกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ โดยจากข้อมูลการสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันในปี 2564 พบว่า คนไทยเล่นการพนัน 1.13 ล้านคน มีหนี้สิ้นที่เกิดจากการพนันคิดเป็นจำนวน 15,307 ล้านบาท และที่สำคัญจากผลสำรวจระบุว่า 81.3% ของผู้เล่นการพนันเหล่านี้จะไม่หยุดเล่น แม้จะเป็นหนี้จากการพนัน ยังไม่นับรวมผลกระทบด้านสังคมอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพนัน โดยประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ใดๆ กลับสู่ประเทศ เมื่อพิจารณาถึงต้นตอของปัญหาแล้วประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งคือ การที่การพนันยังไม่ถูกกฎหมาย ไม่ได้มีการอนุญาตโดยรัฐ ทำให้รัฐไม่สามารถมีมาตรการในการจำกัด หรือการควบคุมอย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างในประเทศสิงคโปร์รัฐสามารถกำหนดมาตรการจำกัดการเข้าถึงการพนันด้วยการกำหนดเกณฑ์อายุ การห้ามการโฆษณา และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากประชาชนในการเล่นการพนันในกาสิโน รวมทั้งรัฐยังสามารถออกมาตรการช่วยเหลือ และดูแลประชาชนที่ประสบปัญหาเสพติดการพนัน โดยการขึ้นทะเบียนห้ามไม่ให้บุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงช่องทางการพนันที่อยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีนโยบายจำกัดเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั้งการไม่อนุญาตให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางบริเวณตามกฎหมายกำหนด โดยข้อห้าม ข้อบังคับ กฎหมาย หรือกรอบแนวคิดดังกล่าว ไม่สามารถช่วยลดอุบัติเหตุ ลดการบริโภค หรือลดผลกระทบด้านลบอื่นๆ ได้อย่างแท้จริงตามเป้าประสงค์ หรือเจตนารมณ์ของรัฐบาล เห็นได้จากข้อมูลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต พบว่า มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ปี 2557-2565 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2 ต่อปี และสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เองก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด หรือแม้กระทั่งในเรื่องรูปแบบการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าที่ผลการศึกษาในระดับนานาชาติพบว่า มีผลกระทบต่อร่างกายน้อยกว่าบุหรี่แบบเดิมที่ต้องเผาไหม้ใบยาสูบจนเกิดสารก่อมะเร็งจำนวนมาก แต่ภาครัฐของไทยกลับไม่อนุญาตให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทย

ทั้งหมดนี้ รัฐบาลอาจหลงลืม หรือละเลยในสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของปัจเจกบุคคลในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ไม่ควรมองข้าม การวางแนวทาง หรือจำกัดกรอบความคิดของประชาชนอาจจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อประชาชน สังคม และประเทศที่มีแนวทางการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย ที่หลักการสำคัญคือ ประชาชนสามารถคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และเลือกในสิ่งที่เหมาะสม ถ้าหากรัฐยังกำหนดกรอบ จำกัดความคิดการตัดสินใจของประชาชนในทุกเรื่องรอบตัว ประเทศไทยอาจจะเป็นเสมือนพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกให้ไม่รู้จักโต จะต้องคอยป้อนข้าวป้อนน้ำให้ในทุกช่วงวัย ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ และเลือกตัดสินใจด้วยตัวเอง และไม่สามารถยืนบนลำแข้งตัวเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ความท้าทายทางการเมือง และเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ซึ่งถึงเวลาแล้วหรือยังที่นโยบายจะต้องพาสังคมไทย คนไทย ให้คิดเป็น ยืนบนลำแข้งของตัวเองได้มากกว่าการให้ประชาชนต้องรอรับการลดแลกแจกแถมจากการใช้เงินงบประมาณมหาศาลของรัฐบาล ซึ่งเป็นการสร้างภาระทางการคลังในระยะยาวที่เพิ่มขึ้นเพียงเพื่อแลกกับผลประโยชน์ระยะสั้นเพียงชั่วคราว ถึงเวลาแล้วที่รัฐควรจะเลิกคิดให้ คิดแทน หรือกระทั่งการกำหนดกรอบให้ประชาชนทำตามในทุกๆ อย่าง แต่ควรฝึกให้ประชาชนได้คิดวิเคราะห์ และเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล และสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างรับผิดชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพของประเทศ

ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจดำเนินนโยบายอะไร รัฐบาลควรจะมุ่งเน้นการวางรากฐานแห่งอนาคตสำหรับการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน เพิ่มเติมศักยภาพขีดความสามารถทางการแข่งขัน แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และสร้างประโยชน์ในระยะยาวที่ดีกว่าให้กับคนไทยทุกคนมากกว่าการใช้เงินงบประมาณจำนวนมากเพียงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นดังที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า กำลังจะเกิดขึ้นอีกในปัจจุบัน ไม่มีทีท่าว่าภาคการเมือง และภาคประชาชนไทยจะหยุดวัฏจักรการออกนโยบายแบบนี้ ได้อย่างไร ขอให้นึกเสมอว่าทุกครั้งที่ประเทศไทยใช้เงินจำนวนมากในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ประเทศไทยต้องแลกกับโอกาสในการที่จะลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศในระยะยาว ที่สำคัญนโยบายของรัฐควรตั้งต้นจากการสร้างพื้นฐานความพร้อมให้กับประชาชน ให้สามารถคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจเลือกสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง มากกว่าที่จะให้ภาครัฐเข้ามาคิดแทน และกำหนดกรอบการเดินในทุกๆ ก้าว และเมื่อใดที่ประชาชนพร้อม ประชาชนเองจะเป็นผู้ปลดแอกตัวเองออกจากวัฏจักรดังกล่าว ซึ่งแทนที่จะเรียกร้องการลดแลกแจกแถมจากรัฐบาล ประชาชนไทยควรจะเรียกร้องให้รัฐมีนโยบายที่จะสร้างโอกาสในชีวิต เพิ่มเติมทักษะ และพัฒนาความสามารถ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยที่วัดผลเมื่อใดก็ต่ำกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาในระดับเดียวกัน การมุ่งเน้นถึงการพัฒนาศักยภาพของประชากร และประเทศในระยะยาว จะเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยได้อย่างแท้จริง และยั่งยืนต่อไป.