เปิดภาพปรากฏการณ์ จันทรุปราคาบางส่วน ช่วงเวลาที่เงามืดของโลกบดบังมากที่สุด เช้าวันออกพรรษา 29 ตุลาคม 2566

วันที่ 29 ตุลาคม 2566 เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า  ปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 01:01 - 05:26 น. (เวลาท้องถิ่น ณ กรุงเทพมหานคร) ตรงกับเช้าวันออกพรรษา 29 ตุลาคม 2566

ลำดับการเกิดปรากฏการณ์ เริ่มจากดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เวลาประมาณ 01:01 น. แสงสว่างของดวงจันทร์ลดลงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก จนกระทั่งเวลาประมาณ 02:35 น. ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน

ดวงจันทร์เต็มดวงจะค่อย ๆ เว้าแหว่งไปทีละน้อย เงาโลกบังมากที่สุด เวลาประมาณ 03:14 น. ประมาณร้อยละ 6 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ จนสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ในเวลาประมาณ 03:52 น.

รวมเวลาเกิดจันทรุปราคาบางส่วน นาน 1 ชั่วโมง 17 นาที จากนั้นดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกอีกครั้ง และสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาโดยสมบูรณ์ ในเวลาประมาณ 05:26 น. ซึ่งหลายภูมิภาคของประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่จะสังเกตเห็นได้ในประเทศไทยครั้งถัดไป เป็น "จันทรุปราคาเต็มดวง" เกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 ถึงเช้ามืดวันที่ 8 กันยายน 2568.

...

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ