"อาจารย์ธรณ์" ไขคำตอบ ภาพสัตว์ยึกยือจำนวนมากตามชายฝั่ง ที่แท้คือ "บุ้งทะเล" พบมากช่วงนี้ในทะเลอ่าวไทย พร้อมเตือนอย่าจับ แม้ไม่มีพิษ แต่ทำให้คันมาก

วันที่ 11 ต.ค. 2566 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจ Thon Thamrongnawasawat โดยระบุว่า "ช่วงนี้ในทะเลอ่าวไทยมีอะไรแปลกๆ หลายอย่าง เช่น ตัวยึกยือที่เห็นในภาพเป็นสัตว์ที่เรียกว่า บุ้งทะเล คันมากเจอแล้วอย่าไปจับ เคยโดนมาแล้วแสบคันเหมือนโดนหนอนบุ้งผีเสื้อเลย ตอนนี้มีรายงานบุ้งทะเลขึ้นมาตามชายฝั่ง ตามเกาะในอ่าวไทยฝั่งตะวันตก 

สำหรับบุ้งทะเล เป็นหนอนปล้อง พวกเดียวกับแม่เพรียงและไส้เดือนทะเล บุ้งทะเลอยู่ในทะเลตลอดเวลา การเข้ามาเกยชายฝั่งเกิดเพราะกระแสน้ำหรือคลื่นลม จุดสำคัญคือขนละเอียดมากเหมือนบุ้ง ไม่แนะนำให้จับหยิบโดน หรือไปเล่น โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเตือนคุณลูกหากลอยมาติดหาดเยอะๆ บุ้งทะเลอยู่ในน้ำ ว่ายน้ำเก่ง อาจโดนเราได้ หากเห็นต้องระวังอย่าไปโดน หากมีเยอะไปก็หลีกเลี่ยงการลงน้ำ เพราะหากโดนเข้าไปจะแสบคันเหมือนโดยขนบุ้ง อย่าเกาอย่าถู ต้องพยายามเอาขนออก แต่มันทำยากมาก

สมัยก่อนใช้เทียนไขคลึงเบาๆ หรือใช้ขี้ผึ้ง ปัจจุบันจะแก้ยังไงก็ตามถนัด หลักการคือเอาขนออกจากผิวหนังเรา จากนั้นก็ทาครีมแก้คันบุ้งทะเลไม่มีพิษ คันเพราะขน ไม่ต้องแก้พิษเหมือนแมงกะพรุน น้ำส้มสายชูหรือใดๆ ไม่มีประโยชน์ ปกติในทะเลกระจายกันอยู่ ไม่ได้มาทีเยอะๆ แต่บางช่วงเวลาอาจเจอเยอะหน่อย เช่น ช่วงผสมพันธุ์ แต่ก็ไม่ได้เยอะปานนี้ 

ผลกระทบต่างๆ ที่เราทำต่อทะเล อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น แพลงก์ตอนบลูมที่เกิดบ่อยขึ้น อาจทำให้ลูกสัตว์บางชนิดช่วงที่เป็นแพลงก์ตอนวัยอ่อน รอดมากขึ้นเนื่องจากมีแพลงก์ตอนพืชให้กินเยอะ ย้ำว่านั่นเป็นสมมติฐาน เรายังต้องทำความเข้าใจอะไรอีกเยอะ เพราะทะเลยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน ธาตุอาหาร มลพิษ และโลกร้อน ทำให้เกิดอะไรแปลกๆ เป็นทะเลที่เริ่มเดาทางไม่ได้ ผลที่เราก่อเริ่มย้อนกลับมาหาเราในรูปแบบต่างๆ แล้ว".

...

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat, ภาพจากชาวบ้าน ส่งมาให้สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย